ธ.ก.ส.ประกาศขึ้นดอกเบี้ย "เงินกู้-เงินฝาก" เริ่ม 15 ส.ค.นี้

11 ส.ค. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2566 | 09:16 น.

ธ.ก.ส. ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สูงสุด 0.40% ต่อปี พร้อมปรับดอกเบี้ยเงินกู้ MLR - MOR 0.25% ต่อปี เริ่ม 15 ส.ค. 66 ระบุยังตรึงดอกเบี้ย MRR สำหรับเกษตรกรรายย่อย หนุนฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาด ธ.ก.ส. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ปรับขึ้นร้อยละ 0.10 – 0.40 ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ประกอบด้วย

ลูกค้าทั่วไป

  • บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นร้อยละ 0.40 ต่อปี
  • บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.30 ต่อปี
  • เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.15 ต่อปี

ลูกค้านิติบุคคล

  • ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นร้อยละ 0.15 ต่อปี
  • บัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้นร้อยละ 0.10 ต่อปี

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ที่ร้อยละ 6.975 ต่อปี ต่อไป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า และสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ธ.ก.ส.ประกาศขึ้นดอกเบี้ย \"เงินกู้-เงินฝาก\" เริ่ม 15 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บางกลุ่ม ได้แก่

  • อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) ร้อยละ 0.250 ต่อปี จากร้อยละ 5.625 เป็นร้อยละ 5.875 ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ร้อยละ 0.250 ต่อปี จากร้อยละ 6.875 เป็นร้อยละ 7.125 ต่อปี

“แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บางประเภทตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด แต่ ธ.ก.ส. ยังคงให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน”