นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีนี้รัฐบาลไม่มีการดำเนินโครงการประกันภัยนาข้าว เนื่องจากไม่สามารถเสนอโครงการได้ทันก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภา แต่รัฐบาลยังคงมีแนวทางดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ โดยสามารถรับเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ในกรณีได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
“การประกันภัยนาข้าวที่ไม่ได้ทำปีนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ เพราะเงินที่กระทรวงการคลังยังมีเพียงพอที่จะทำได้อยู่ แต่ติดปัญหาไม่สามารถเสนอโครงการได้ทันเพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แต่ก็ไม่ได้เสนอเข้า ครม.”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากความล่าช้า จนไม่สามารถดำเนินโครงการประกันภัยนาข้าวได้ทันปีนี้ มีความสุ่มเสี่ยงที่ภาครัฐจะต้องใช้งบประมาณในการดูแลชดเชยความเสียหายแก่ชาวนามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากแต่ละปีรัฐบาลจะใช้เงินชดเชยจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียงปีละ 2,000 ล้านบาท แต่หากรัฐไม่ใช้ระบบประกัน และต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเองอาจจะต้องเสียมากกว่านั้น
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาในบางปี ทางประกันต้องขาดทุน จ่ายชดเชยความเสียหายมากกว่าทุนประกันอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างงยิ่งในปีนี้ เป็นปีที่ไทยต้องเผชิญปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก และทำให้นาข้าวเสียหายได้ง่าย
นอกจากนี้ ในส่วนของชาวนา เองก็กังวลว่าการให้ระบบรัฐบาลมาเยียวยาจะทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า หรือไม่ได้รับ เพราะตามขั้นตอนจะต้องมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน แต่หากไม่ประกาศก็ไม่มีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเกณฑ์
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่เผชิญภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง หรือน้ำท่วมในปีนี้ จะได้รับการช่วยเหลือ เมื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้วเท่านั้น
โดยจะเข้ารับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดแนวทางการช่วยเหลือด้านพืชว่า กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตาย หรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟู หรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีก ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยกรณีข้าวให้ช่วยเหลือไร่ 1,340 บาท
นอกจากนี้ กรณีพื้นที่เพาะปลูกถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุทุกชนิดทับถม จนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทรายไม้ โลน เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกได้ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ไม่เกินไร่ละ 7,000 บาท