คลังแจ้งแบงก์รัฐตรึง “ดอกเบี้ย” บรรเทาภาระประชาชน

24 ส.ค. 2566 | 04:19 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2566 | 04:20 น.

คลังแจ้งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ย-ทยอยปรับขึ้นน้อยที่สุด ลดผลกระทบประชาชน หวั่นแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบการชำระหนี้ ระบุธปท.เตรียมมาตรการช่วยแก้หนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพิ่มเป็น 2.25%ว่า  ได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ ตรึงดอกเบี้ย หรือปรับขึ้นให้น้อยที่สุดเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้กู้ ซึ่งส่วนใหญ่ต่อผู้มีรายได้น้อย แต่บางธนาคารอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากบ้าง เพื่อบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อ 

ส่วนกรณีที่มีการประเมินว่า กนง. มีแผนอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปี 66 นี้ จะต้องมีการหารือร่วมกันแบงก์รัฐอีกรอบว่าสถานการณ์แต่ละแบงก์เป็นอย่างไร หากธนาคารรัฐยังสามารถบริหารสภาพคล่องได้ ก็ขอให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน

“เมื่อปีที่แล้วแบงก์รัฐได้ก็ตรึงอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือประชาชนจนถึงที่สุด ส่วนครั้งนี้อาจจะต้องมีการปรับขึ้นกันบ้าง โดยเฉพาะด้านดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ต้องปรับขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่อง ส่วนการปล่อยกู้ก็มีต้นทุนทางการเงิน อย่างไรก็ดี การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่ละแบงก์ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาความต้องการสภาพคล่องที่แตกต่างกัน แต่จะพยายามให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจกระทบต่อภาระการชำระหนี้ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ดังนั้น นโยบายในการดูแล คือ พยามยามกำชับให้แบงก์รัฐมีการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การยืดหนี้ และปรับค่างวดการผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อยู่ระหว่างออกมาตรการช่วยแก้หนี้อยู่

ส่วนกรณีแบงก์รัฐตั้งสำรองผลขาดทุนสูงนั้น ก็เป็นการตั้งตามเกณฑ์ ซึ่งต้องตั้งไว้สูงตามมาตรฐาน ขณะนี้การทำบัญชี ยังไม่ได้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (ทีเอฟอาร์เอส 9) เนื่องจากมีเวลากว่า 1 ปี แต่ธนาคารรัฐก็ต้องตั้งสำรอง และทำตามเกณฑ์ของ ธปท.