ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานสินเชื่อส่วนบุคคล สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มียอดคงค้าง 794,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116,396 ล้านบาทหรือ 17.16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 507,491 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 7.26% และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 287,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 39.99% โดยเฉพาะในส่วนของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพิ่มขึ้น 43.42%
ขณะที่สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนพบว่า มียอดคงค้าง 28,007 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 21,782 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 33.97% และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 6,225 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 76.70% โดยที่่ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ลดลง 6.19% แต่นอนแบงก์เพิ่่มขึ้นถึง 78.86%
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลีสซิ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ SAK เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนช่วงนี้ เรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล )เป็นประเด็นที่ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินต่างๆและลีสซิ่งต่างเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้มากเกินไป โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อเชิงรุกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หากปล่อยสินเชื่อมากเกินไป เริ่มจะสุ่มเสี่ยงและเห็นผลขาดทุนและบางรายกลายเป็นหนี้เสีย
“การปล่อยสินเชื่อรายย่อยส่วนใหญ่ต่างระมัดระวัง แต่ในส่วนของศักดิ์สยามคุณภาพลูกค้ายังดีและเอ็นพีแอลดูแลอยู่ในระดับ 2.5% โดยจะรักษาระดับนี้จนถึงสิ้นปี” นายศิวพงศ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มที่ธปท.จะมี 3 มาตรการออกมาดูแลลูกค้า ทั้งความสามารถในการชำระหนี้, การชาร์ตหรือลดดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงของลูกค้าและการดูแลลูกหนี้เรื้อรัง ยังต้องรอนิยามจากธปท.ที่จะกำหนดออกมาในปีหน้า เพราะบริษัทให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของธปท. ซึ่งในแง่การแข่งขันยังรุนแรง ประมาณไม่ได้ที่สำคัญให้น้ำหนักเรื่องคุณภาพลูกค้าเป็นหลัก
ส่วนแนวโน้มความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ลูกค้าเกษตรกรมีการจำนำทะเบียนรถกะบะและรถไถ ประกอบกับราคาพืชผลดีขึ้นในไตรมาส 3 จึงประมาณการเติบโตสินเชื่อปีนี้ไม่ต่ำกว่า 15% โดยพอร์ตสิ้นปีจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 12,487 ล้านบาท ซึ่งจะมีลูกค้าใหม่เข้ามาและบางส่วนชำระคืน ทำให้สินเชื่อช่วงครึ่งแรกปี 66 เติบโตช้า เพราะเกษตรกรจะนำเงินมาชำระคืน โดยสินเชื่อเติบโตกว่า 1,000 ล้านบาท
“ปีนี้ศักดิ์สยาม เพิ่มบริการสินเชื่อที่ดินและติดตั้งโซลาร์รูฟ ท๊อป ซึ่งเพิ่งให้บริการ 2 เดือน ผลตอบรับเข้ามาติดตั้งแล้ว 150 หลัง เฉลี่ย 200,000 บาทต่อหลัง ตั้งเป้าทั้งปีจะติดตั้งโซลาร์รูฟ ท๊อปประมาณ 500-1,000หลัง ซึ่งประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟเป็นการลงทุนระยะยาวอยู่ได้ 20 ปีและค่าไฟฟ้ามีผลตั้งแต่เดือนแรกของการติดตั้ง ซึ่งการติดตั้งโซลาร์รูฟปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม แต่ในส่วนของบ้านเรือนยังมีไม่มาก รวมถึงโครงการหมู่บ้านจัดสรร”
นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อยังเติบโตได้ดี ภาพรวมทั้งระบบช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เติบโตประมาณ 15% โดยกลุ่มนอนแบงก์ยังเป็นเจ้าตลาด ส่วนธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้ามาดูตลาด แม้จะไม่เติบโตหวือหวา โดยกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้สินเชื่อจำนำทะเบียน จะมีทั้งฐานเดิมและรายใหม่เข้ามาด้วย
สำหรับ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ครึ่งปีแรกโตได้ดี มีสินเชื่อใหม่เข้ามากว่า 1,000 กว่าล้านบาท โดยคาดว่า ครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก แต่โดยรวมอาจจะทำได้ไม่ถึงเป้าที่กำหนดไว้ 9,100 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสแรกการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างซึมมาก แต่ไตรมาส2 พลิกกลับเป็นเท่าตัว ดังนั้นต้องรอดูสัญญาณไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งส่วนตัว ยังมองโอกาสในการทำตลาดครึ่งปีหลังจะดีกว่าที่ผ่านมา แต่ “เคทีซีพี่เบิ้ม” ยังเน้นเติบโตอย่างระมัดระวังและทำตลาดควบคู่กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งยังมีฐานลูกค้าอีกมากที่เป็นโอกาส
ส่วนกลุ่มเป้าหมายของ“เคทีซี พี่เบิ้ม” จะมีทั้งพนักงานประจำและเจ้าของกิจการ ดังนั้นฐานลูกค้าจะมีรายได้หลากหลาย เช่น พนักงานประจำเฉลี่ย 8,000-12,000 บาท ส่วนเจ้าของกิจการรายได้จะสูงกว่า เพราะลูกค้าจะมีทะเบียนรถเป็นหลักประกันและต้องการเงินด่วนหรือวงเงินก้อนใหญ่ ปัจจุบันพนักงานประจำมีสัดส่วนเกิน 50% โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 21% ต่อปี ขี้นกับอายุรถ เช่น 7-10 ปี
“เราไม่ค่อยห่วงเอ็นพีแอล เพราะให้ความสำคัญเรื่องบริการความเสี่ยงในพอร์ตและได้คัดกรองลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่คู่แข่งทำตลาดหวืดหวาก็ตาม หากจะขยายฐานลูกค้าใหม่ก็จะทำ
การทดลองตลาดเป็นไพลอตก่อน เพราะเน้นคุณภาพพอร์ตไม่อยากเอาลูกค้ากลุ่มเสี่ยงเข้ามา” นางสาวเรือนแก้ว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปี โจทย์ท้าทายสำหรับเคทีซี พี่เบิ้ม คือ คู่แข่งหลายรายที่เข้ามาทำตลาด เพียงแต่รูปแบบทำตลาดหวือหวาน้อยกว่าปีก่อน และด้วยมาตรการของธปท. ทำให้คนสนใจเข้ามาทำตลาดนี้มากขึ้นด้วย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,917 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566