"เค ลีสซิ่ง" คุมเข้มสัญญาณหนี้เสีย SM ไม่เกิน 8%

08 ก.ย. 2566 | 08:45 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 08:45 น.

“ลีสซิ่ง กสิกรไทย” เผย สินเชื่อใหม่ครึ่งปีโต 5% สวนตลาดที่หดตัว 5% ตามยอดขายรถใหม่ที่่หดตัว เข้มคุณภาพหนี้ ลั่นหนี้ SM ไม่เกิน 8% หลังตัวเลขอุตสาหกรรมพุ่ง 14% เผยต้นทุนทางการเงินเพิ่ม กดดัน NIM ส่งผลต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพลูกหนี้

ความผันทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมือง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะสินเชื่อตึงตัว ส่งผลให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนชะลอการตัดสินใจ ทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 อยู่ที่ 406,131 คัน ลดลง 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มี 427,296 คัน

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ ลีสซิ่งกสิกรไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 8.3-8.5 แสนคัน คิดเป็นอัตราบวกลบ 2.0% จาก 8.4 แสนคันเมื่อปีที่แล้ว เพราะมีทั้งปัจจัยบวกและลบในช่วงที่เหลือของปี สำหรับลีสซิ่งกสิกรไทย ตั้งเป้าสินเชื่อรถใหม่เติบโตในระดับเดียวกับการเติบโตของยอดขายรถใหม่ในตลาดที่ประมาณ 5% เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อรถใหม่ของบริษัทเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10-30%

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ ลีสซิ่ง กสิกรไทย

สำหรับปัจจัยลบในการทำตลาดปีนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่กระจายตัวดีพอ ส่งผลต่อยอดขายรถกลุ่มปิคอัพ ขณะที่แนวโน้มสถาบันการเงินจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ภายใต้แรงกดดันต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นมาตลอด แม้ว่าปีนี้จะปรับขึ้นมาแล้วเฉลี่ย  0.40% แต่ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นและคุณภาพหนี้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่แย่ลงมาก จึงต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

ส่วนปัจจัยหนุนจะมาจาก ทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน (BEV) โดยค่ายรถแบรนด์ใหม่สำหรับไทยแต่เป็นแบรนด์ระดับโลกจะเปิดตัวหลายแบรนด์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ไปถึงช่วงงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปี ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนมีกำลังซื้อเลือกซื้อรถยนต์คันที่ 2 ขึ้นไป มีความสามารถในการผ่อนดีกว่าและมีเงินดาวน์สูง จึงเป็นกลุ่มที่คุณภาพหนี้ดี

อย่างไรก็ตาม การที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปีที่แล้วมาถึงปีนี้ จะส่งผลลบต่อระดับของส่วนต่างดอกเบี้ยรับ (NIM) ของผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถใหม่มากกว่าสินเชื่อรถยนต์ตัวอื่นๆ แต่อีกด้าน ก็ต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพลูกหนี้ แต่ปรากฎว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทสามารถอนุมัติสินเชื่อใหม่เติบโต 5% ซึ่งสวนทางกับตลาดที่ติดลบ 5%

สาเหตุที่ลิสซิ่งกสิกรไทยเติบโตสวนตลาดมาจาก 5 ปัจจัยหลักคือ

1.การร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์รถไฟฟ้าที่มีอัตราเติบโตสูง

 2.โฟกัสฐานลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสามารถประมวลผลข้อมูลเครดิตได้แม่นยำและรักษาคุณภาพหนี้ได้ดี

3.นำนวัตกรรมอนุมัติสินเชื่อออนไลน์ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

4.เพิ่มผลิตภาพของบริษัทต่อเนื่องมา ทั้งทีมขาย ทีมหลังบ้าน

5.ทำแคมเปญกับดีลเลอร์ คู่ค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มุ่งเน้นเพียงแค่การแข่งขันตัดราคาจนสูญเสียความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการรองรับคุณภาพสินเชื่อในระยะยาว

\"เค ลีสซิ่ง\" คุมเข้มสัญญาณหนี้เสีย SM ไม่เกิน 8%

ทั้งนี้ สอดรับกับแนวการขายรถยนต์แบบใหม่ของผู้ขายรถไฟฟ้าที่หันมาใช้กลยุทธ์ราคาเดียว(One Price) โดยผู้ผลิตไม่เน้นแข่งขันหั่นราคา จึงสามารถทำให้รถที่ออกมาไม่เสียราคา และมีงบประมาณมาดูแลลูกค้าให้บริการหลังการขายได้ดี ขณะเดียวกันนโยบาย One Price ก็ครอบคลุมถึงอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อ ไม่เกิดการแข่งขันดอกเบี้ยและคอมมิชชั่นจนเหลือกำไรบางมาก จนไม่สามารถรองรับกรณีที่คุณภาพหนี้แย่ลง ในระยะยาวสถาบันการเงินสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ดีและช่วยส่งเสริมการขายรถยนต์แบบยั่งยืน

ส่วนประเด็นหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือ Stage2 สัญญาณเพิ่มขึ้นมาใน 2-3 ปีหลัง ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่อีกส่วนหนึ่ง เพราะดอกเบี้ยและค่าปรับผิดนัดไม่อยู่ในอัตราสูงเหมือนอดีต เช่นเพดานอัตราดอกเบี้ยปรับลดจาก 15% เหลือเพียง 5% ทำให้พฤติกรรมผู้กู้จะประคองการผ่อนชำระไม่ให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แต่ยังคงมีการค้างชำระส่งผลให้หนี้ SM สูงขึ้นมาที่ระดับ 14%

ขณะที่ลีสซิ่งกสิกรไทย ยังควบคุมส่วนนี้ได้ที่ 7-8% ส่วนสัญญาณ NPL ในระบบธนคารพาณิชย์ไม่เกิน 1.9-2.0% นั้นถือว่า สูงกว่าระดับปกติไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะมีการขายหนี้เสียและขายรถยึด

ออกไป ซึ่งช่วงนี้ราคาขายรถยึดก็ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งยอมรับว่า ปัจจัยเหล่านี้ผู้ประกอบธุรกิจต่างระมัดระวังในการบริหารพอร์ตสินเชื่อรถยนต์

นายธีรชาติกล่าวถึงความคืบหน้าร่างประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. ….เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ว่า อยู่ในขั้นตอนรอรัฐบาลใหม่รับรอง ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจกลุ่มผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์

“ส่วนตัวคิดว่า ขอบเขตการกำกับจะมีด้านบวกต่อลูกค้าผู้ซื้อรถ เนื่องจากหลักเกณฑ์จะเข้ามาดูแลและคุ้มครองมากขึ้น แต่จะส่งผลต่อต้นทุนทางการดำเนินงานสำหรับผู้ให้บริการปล่อยสินเชื่อต้องปรับกระบวนการและไอที ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ามากขึ้น” นายธีรชาติกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,921 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2566