ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้แจกเงินดิจิทัล ควรทำเฉพาะกลุ่ม ช่วยประหยัดงบประมาณ

14 ก.ย. 2566 | 11:15 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 13:17 น.

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ มองแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ควรทำเฉพาะกลุ่ม ช่วยประหยัดงบประมาณ พร้อมแนะรัฐบาลควรออกนโยบาย ที่ไม่กระทบเสถียรภาพมากจนเกินไป หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

(14 ก.ย. 66) ที่ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "แบงก์ชาติ" กล่าวถึงหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ทางแบงก์ชาติได้มีข้อเป็นห่วง เกี่ยวกับการเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยยังไม่ค่อยดีนัก เติบโตได้เพียง 1.8% และต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่สิ่งที่สามารถเติบโตได้ดี คือด้านการบริโภคในประเทศที่เติบโตได้ดีทั้งในไตรมาส 1 และ 2 ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรจะกระตุ้นมากกว่า คือกระตุ้นการลงทุน

ส่วนความเห็นในเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น ขณะนี้ต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบในการทำนโยบายดังกล่าวก่อน ซึ่งถ้าออกมาเป็น Digital Asset ทาง แบงก์ชาติ ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุน เพราะจะกลายเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อต่อเสถียรภาพ 

แต่หากเป็น e-money ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร

รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่างๆ ควรเป็นรูปแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการเงิน 1 หมื่นบาท

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ

"สิ่งที่เราขาดจริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่า การทำนโยบายต่างๆ ควรต้องเป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ need เงิน 1 หมื่นบาท นี่คือที่เราคุยกับรัฐบาลไป” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญในการทำนโยบายต่างๆ จะต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัดเจน เช่น ภาพรวมรายจ่าย หนี้การขาดดุล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเรื่องวินัยการคลัง การบริหารภาพรวมฐานะการคลังให้อยู่ในกรอบในทุกมิติ

ทั้งนี้เข้าใจว่าในโลกของความจริง รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายที่ต้องออกมาตามที่แถลงไว้ แต่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายที่ออกมา ไม่ทำลาย หรือกระทบต่อเสถียรภาพมากจนเกินไป หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านราคาพลังงานโลกที่อาจจะกลับมา 

และจากผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสินค้าในหมวดอาหารมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ

โดยการดำเนินนโยบายการเงินของ แบงก์ชาติ จะต้องยึดจาก Outlook Dependent มากกว่า Data Dependent ซึ่งเป็นการมองข้อมูลในระยะข้างหน้ามากกว่า เพราะถ้าไปปรับนโยบายการเงินตามข้อมูลรายวันที่ออกมา จะทำให้นโยบายแกว่งไปมา 

ดังนั้นต้องทำนโยบายการเงินให้สอดคล้องภาพในระยะยาว ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ยั่งยืนที่ระดับ 1-3% รวมทั้งต้องไม่สร้างความไม่สมดุลทางการเงินด้วย