ธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (18 - 22 ก.ย.) ที่ระดับ 35.30-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ผลการประชุมและ Dot Plot ของเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนก.ย. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีนอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซน
การเคลื่อนไหวเงินบาทในส้ปดาห์ที่ผ่านมา (11-15 ก.ย.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามค่าเงินเยนที่มีแรงหนุนจากคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระบุว่า BOJ อาจสามารถยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดยเงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม แม้ว่าทางการจีนจะพยายามส่งสัญญาณว่า ไม่ต้องการให้เงินหยวนอ่อนค่าเร็วผ่านการทยอยกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวันในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม
นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนบางส่วนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า แม้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC วันที่ 19-20 ก.ย. นี้แต่ก็ยังไม่ตัดโอกาสที่อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมรอบถัดๆ ไปในปีนี้
ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ก.ย.)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,572 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,919 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 2,079 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,840 ล้านบาท)