บอนด์ยีลด์เด้ง  ดันต้นทุนเงินกู้รัฐพุ่ง

19 ก.ย. 2566 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2566 | 11:13 น.

บอนด์ยีลด์ไทยเด้ง รับภาครัฐดูดสภาพคล่อง นำเงินมาใช้ในมาตรการต่างๆ แถมเจอแรงเสริมจากนักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรรัฐบาลไทย “กรุงไทย” เผยบอนด์ยีลด์ขยับสูงขึ้นแล้ว 0.30% ตั้งแต่เดือนส.ค. ชี้ภาระทางการคลังน่ากังวล

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ บอนด์ยีลด์ ในหลายประเทศรวมทั้งไทยทยอยปรับเพิ่มตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ โดยหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามรอบการประชุม FOMC 

ทั้งนี้หากเทียบการเปลี่ยน แปลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ ตั้งแต่สิ้นปี 2564 ถึง 13 กันยายน 2566 พบว่า บอนด์ยีลด์ 10ปีเพิ่มขึ้น 2.73% จาก 1.52% เป็น 4.25%  5ปีเพิ่มขึ้น 3.13% จาก 1.26% เป็น 4.39% 2ปีเพิ่มขึ้น 4.23% จาก 0.73% เป็น 4.96% และ 1ปีเพิ่มขึ้น 5.03% จาก 0.39% เป็น 5.42% 

บอนด์ยีลด์เด้ง  ดันต้นทุนเงินกู้รัฐพุ่ง

ขณะที่บอนด์ยีลด์ไทยค่อยๆขยับขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งขยับขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 หากเทียบการเปลี่ยนแปลงบอนด์ยีลด์สิ้นปี 2564 ถึง 13 กันยายน 2566 พบว่า 10 ปี ขยับเพิ่มขึ้น 1.14% จาก 1.90% เป็น 3.04% 5 ปีขยับขึ้น 1.47% จาก 1.29% เป็น 2.76%  2ปีขยับขึ้น 1.84% จาก 0.66% เป็น 2.49% และ 1ปีขยับขึ้น 1.81% จาก 0.51% เป็น 2.32% 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ระยะสั้นของไทยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากนักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้นของไทยกว่า 117,904 ล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองบอนด์ไทยต่อเนื่อง ล่าสุด ณ 13 กันยายน 2566 ยอดการถือครองบอนด์ระยะสั้นเพียง 63,099 ล้านบาทลดลงจากที่เคยถือครองถึง 181,003 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2565 ขณะที่บอนด์ระยะยาวลดลง 5,269 ล้านบาทจากที่เคยถือครอง 897,310 ล้านบาทมาอยู่ที่ระดับ 892,041 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงมีสถานะขายสุทธิบอนด์ไทย 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า แนวโน้มบอนด์ยีลด์สหรัฐน่าจะนิ่ง แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)มีความน่าจะเป็น 45-50% ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมเดือนพฤศจิกายน แต่ไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดโดยรวม

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

ขณะที่นโยบายควบคุมราคาพลังงานของไทยล่าสุด น่าจะลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยกดดันเงินเฟ้อของไทยทยอยลดลง แต่กนง.มีท่าทีจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในรอบการประชุม 27 กันยายนนี้ เพราะกนง.ได้สื่อสารหลายครั้งว่า “near neutral rate” สะท้อนความตั้งใจที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อเป็น Policy Space แม้เงินเฟ้อไทยไม่สูง

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลระยะสั้นต่อบอนด์ยีลด์ แต่นโยบายรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นการดูดสภาพคล่องจะซ้ำเติมการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและปริมาณเงินที่ต้องกู้ค่อนข้างมาก ซึ่งสถานการณ์อาจมีส่วนคล้ายปี 2563-2564 ที่ภาครัฐอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบช่วงการระบาดของโควิด-19 

ทั้งนี้ 2-3 ปีที่แล้ว ไทยอยู่ในวงจรลดดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ดอกเบี้ยบอนด์ต่ำกว่า 1% แต่ครั้งนี้ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% ส่วนดอกเบี้ยบอนด์ 10 ปีอยู่ที่ราว 3% ซึ่งตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา บอนด์ยีลด์ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอดประมาณ 0.30% แล้ว ดังนั้นแนวโน้มภาระทางการคลังดูน่ากังวลมากกว่า ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ ตลาดต้องการความชัดเจนถึงโครงการและความต้องการใช้เงินของรัฐบาลใหม่และต้องใช้เวลาแค่ไหนกว่าจะทำให้สภาพคล่องกลับสู่สมดุล

“ปัจจุบันตลาดบอนด์ค่อนข้างอ่อนแอ ถ้าการกู้เงินของรัฐรอบนี้ ดูดสภาพคล่องมาก บอนด์ยีลด์จะปรับขึ้นและราคาตก ซึ่งในที่สุดจะมีความเสี่ยงที่การกู้เงินของภาครัฐที่แพงขึ้นจะกระทบตลาดหุ้นกู้ด้วย เพราะภาคเอกชนที่จะออกหุ้นกู้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น” นายสงวนกล่าว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ​ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)กล่าวว่า แนวโน้มบอนด์ยีลด์สหรัฐยังเป็น “ขาขึ้น” ทั้งจากปัจจัยสหรัฐอเมริกามีแผนจะกู้เงิน ด้วยการออกบอนด์เพื่อจ่ายดอกเบี้ย จากภารระหนี้ที่มีในระดับสูง ประกอบกับที่ผ่านมาเพิ่งถูกลดอันดับเครดิต (เรตติ้ง) อาจมีเงินบางส่วนไม่ไหลกลับเข้ามาลงทุน นอกจากนี้นโยบายการเงินของสหรัฐน่าจะยังเข้มงวดต่อเนื่องหลังจากอัตราเงินเฟ้อดีดตัว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
“ตลาดเริ่มมองรัฐบาลใหม่อาจต้องกู้เงินมาสนับสนุนนโยบาย โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้แนวโน้มบอนด์ยีลด์อาจจะมีอัพไซด์จากนโยบาย ทำให้ทุกการประมูล บอนด์ยีลด์ขยับขึ้นมา 0.10-0.15% ถ้ากนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบการประชุมวันที่ 27 กันยายนนี้” นายจิติพลกล่าว 

ส่วนตัวมอง กนง.มีโอกาส 70% ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดกว่าเดิม ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามจะกลับสู่ภาวะสมดุล และเก็บ Policy Space เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มความต้องการใช้เงินจากนโยบายภาครัฐค่อนข้างมากอาจกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ จึงมีความจำเป็นต้องดูแลเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

สิ่งที่เห็นช่วงนี้คือ บอนด์ยีลด์สูงขึ้น โดยเห็นได้จากอายุ 2ปี 2.43% อายุ 3ปี 2.52% อายุ 5ปี 2.71% และอายุ 10ปี 2.97% แต่เครดิต สเปรดปรับตัวลดลง เพราะสภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มภาครัฐจะออกบอนด์นั้น ต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่นอน

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,923 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2566