แม้ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา จะมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อเนื่องฟเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี หลังจากได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อ 27 กันยายน ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพิ่มขึ้นจาก 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.50%
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขานรับนโยบายกนง. โดยเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้นำโดย ธนาคารกรุงเทพ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอัตรา 0.10-0.25% สำหรับบุคคลธรรมดาและดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาตและไทยพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.30% และขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25%
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทย จำกัด (KR)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการส่งผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ เห็นได้ชัดว่า ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยเฉพาะเงินกู้นั้น จนถึงวันนี้มีการปรับขึ้นเกือบใกล้เคียงกับที่กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
สะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยส่งผ่านไปที่ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากที่ผ่านมาอาจจะมีบางช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยจากภาระเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตรา 0.46%
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อเป้าหมายของธปท.ในการดำเนินนโยบายที่ต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งหนี้ครัวเรือน แม้จะมีผลข้างเคียงบ้าง เพราะทำให้ผู้มีหนี้อยู่แล้วจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นระยะต่อไป หลังจากธนาคารในระบบทยอยปรับดอกเบี้ย แต่ส่วนหนึ่งช่วยชะลอการปรับขึ้นของหนี้ครัวเรือนได้ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปจะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นได้เร็ว
ทั้งนี้ กนง.พิจารณาและค่อยๆทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจนอยู่ที่ระดับ 2.50%ต่อปี ขณะที่ธนาคารทยอบปรับขึ้นดอกเบี้ยในระบบเช่นกัน เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยดอกเงินกู้ MRR ตอนนี้สูงกว่า MLR เล็กน้อย โดย MRR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะอยู่ที่ 7.30% ต่อปี แม้บางช่วง MLR จะเพิ่มสูงกว่า MRR แต่หลังจากนั้น ทั้ง MRR และ MLR เพิ่มขึ้นในอัตราเท่ากัน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง.ยังเป็นผู้กำหนดทิศทางดอกเบี้ย ซึ่งหลายคนอาจประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้จบแล้วรอบนี้ที่ระดับ 2.50% ซึ่งกนง.ให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพค่อนข้างมาก โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามหลายตัว เช่น เงินเฟ้อ แม้ช่วงนี้ปรับลดลง แต่หนี้ครัวเรือนยังสูง จึงไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป จะสร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่ม
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยนั้น ได้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว แนวโน้มการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัว อีกทั้งยังมีมาตรการของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ลดราคาน้ำมันหรือค่าไฟฟ้า และที่จะดำเนินการในระยะข้างหน้า ไม่ว่าเงินดิจิทัล มาตรการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ หรือเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเงินเหล่านี้จะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ไม่ถือว่าสูงจนเกินไป เมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
“ปีนี้เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวได้ประมาณ 3.0% ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%ยังต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังมีเงินของภาครัฐที่จะทยอยเข้ามา แต่หากเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ทางกนง.สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมได้ ซึ่งยังมีเวลา แต่ตอนนี้ทุกคนตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ แต่หากเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะมีการทบทวนได้”นายเชาว์กล่าว
ด้านนายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นแนวทางบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินของธปท. เพื่อดูแลสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ตึงเกินไปและไม่ล้นเกินไป
อย่างไรก็ตาม การดูดซัพสภาพคล่องของธปท.ย่อมส่งผลเรื่องต้นทุนของธปท. โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ยอดคงค้างพันธบัตรที่ธปท.ออก และ 2.ยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (ฺBilateral Repo) ซึ่งภายใต้สมมติฐานว่า พันธบัตรส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยอดคงค้างพันธบัตรธปท.(ณเดือนกันยายน 2566) อยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท กรณีการขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้ง 0.25% จะทำให้ต้นทุนธปท.เพิ่มขึ้นราว 6,125 ล้านบาท โดยหักพันธบัตรประเภท Fixed rate bond อายุมากกว่า 1ปี ที่ต้นทุนสะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้าการขึ้นดอกเบี้ยจริงแล้ว 320,000 ล้านบาท
“ประเมินว่าธปท.จ่ายดอกเบี้ยขึ้นราว 5,500 ล้านบาทต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือหากจะคิดรวม 8 ครั้งภาระจะสูงถึง 44,00 0 ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชี จะไม่มีผลต่ออะไรทั้งสิ้นและไม่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ” นายสงวนกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,928 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566