ดอกเบี้ยนโยบาย ไปต่อหรือพอแค่นี้ กับบริบทเศรษฐกิจไทย

29 ก.ย. 2566 | 00:00 น.

ดอกเบี้ยนโยบาย ไปต่อหรือพอแค่นี้ กับบริบทเศรษฐกิจไทย อดีตคณะกรรมการ กนง. และอดีตบอร์ดแบงก์ชาติ เชื่อปีนี้แบงก์ชาติหยุดขยับดอกเบี้ย รอดูทิศทางเศรษฐกิจไทย ปีหน้าลุ้น จีดีพี 4.4%

หลังจากผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ออกมาเป็นเอกฉันท์ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% สู่ระดับ 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

หลายคนอาจจะยังมีข้อสงสัยว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเป็นอย่างไรในระยะข้างหน้า จะปรับขึ้นต่อหรือคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อรอทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า

โดยมุมมองของ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปีนี้ที่เหลือการประชุมคณะกรรมการ กนง. อีก 1 ครั้ง เชื่อว่าคงไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

ซึ่งเชื่อว่าการประเมินคงเกิดขึ้นในปีหน้าว่าจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร เนื่องจากในช่วงที่เหลือของปีนี้เงินเฟ้ออาจจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่มีประเด็นเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อมีปัญหาตามมาได้

แบงค์ชาติ ก็คงต้องพิจารณาในเรื่องนี้ ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่ก็มีผลดีกับภาคการส่งออก และจะใช้เครื่องมือตัวไหนในการดูแลค่าเงินบาทแต่คงไม่ถึงขั้นแทรกแซง เชื่อว่าคงมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทางแบงค์ชาติคงจะต้องมีการพิจารณา และอาจไม่ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปต่อในปีนี้ ส่วนปีหน้าจะดำเนินการนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร ก็คงต้องดูตามสภาพความเหมาะสม

ส่วนการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐนั้น สามารถทำได้แต่ไม่ควรขึ้นตามในระดับเดียวกัน เนื่องจากสถานการณ์ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

"ไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้น ขึ้นตามเค้าขึ้นตามได้แต่ขึ้นเท่าเค้าคงไม่จำเป็น เพราะว่าปัญหาแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียวไม่จำเป็นต้องดูสถานการณ์ เงินเฟ้อบ้านเราไม่ค่อยรุนแรงเท่าเงินเฟ้อของเค้า ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของเรามันอ่อนแอ ฟื้นตัวยาก ฟื้นช้า สหรัฐฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว" นายพรายพล กล่าว

 

ขณะที่การประเมินเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในปี 2567 ที่แบก์ชาติออกมาคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.4% มุมมองของ นายพรายพล ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.4%

เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายแจก "เงินดิจิทัลวอเล็ต 1 หมื่นบาท" ก็เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ พอสมควรในปีหน้า ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีแต่ก็ต้องมาดูว่ามีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อหรือไม่อย่างไร

"เป็นไปได้เหมือนกันเศรษฐกิจไทยจะโต 4.4% อาจจะดูสูงสักนิดแต่พอเป็นไปได้ แต่หากจะขยายตัวที่ 5% คงเป็นเรื่องที่ยาก"

ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็ต้องมาติดตามว่าจะฟื้นตัวได้ขนาดไหน แม้ภาครัฐจะมีนโยบายการ ยกเว้นวีซ่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอนในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็อาจทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดด คงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่เห็นด้วยรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ด้าน อดีตคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่าง นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตลอด แต่ในส่วนครั้งล่าสุดที่ปรับขึ้น 0.25% ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ไม่ควรรีบปรับขึ้น ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา และถือเป็นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายที่ทุกคนคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.50%

สำหรับการประชุมครั้งที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงมีสัญญานที่อ่อนตัวลงชัดเจน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และกำลังการผลิตยังมีส่วนเกินในหลายภาคอุตสาหกรรม

ฉะนั้นปัญหาของเศรษฐกิจไทย ในด้านเสถียรภาพปรับลดลง ทำให้เกิดปัญหาการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจกระทบ จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาด

รวมไปถึงการรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะทำให้การแก้ปัญหา หนี้ครัวเรือน มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 90% ต่อจีดีพี

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้าก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัว 4.4% หรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะหากมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่าง "ดิจิทัลวอเล็ต" วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่า "การกู้เงินมาดำเนินนโยบาย จะต้องไม่กระทบต่อสภาพคล่องของเอกชน"

ในขณะเดียวกันหากใช้การปรับงบประมาณใหม่ ก็อาจกระทบผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป

เนื่องจากเศรษฐกิจอาจจะเติบโตขึ้น พร้อมกับภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังมากขึ้นตามไปด้วย แต่หากเศรษฐกิจโตต่อเนื่องคงไม่มีปัญหา

ทั้งนี้หากภาครัฐอยากให้เศรษฐกิจของประเทศไทยโตได้ต่อเนื่องแบบยั่งยืน ควรใช้เม็ดเงินในการลงทุน หรือสนับสนุนด้านการสร้างนวัตกรรมน่าจะดีกว่า