นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายลดภาระหนี้สินประชาชน จึงได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.7%
โดยมีแนวทางนำร่องรวมหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ ไว้ที่แบงก์รัฐหนึ่งแห่ง เพื่อให้เป็นแกนกลางในการดูแลหนี้เสียของประชาชน ซึ่งให้ธนาคารออมสินเป็นผู้บริหารจัดการ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น ให้ออมสินเป็นผู้รวมหนี้ลักษณะการทำงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยให้สถานบันการเงินเข้ามาขายหนี้ให้ โดยออมสินจะเป็นผู้ออกตั๋วแลกเงินให้กับธนาคารที่เอาหนี้เข้ามา และจากนั้นออมสินจะเป็นผู้บริหาร
ซึ่งหากบริหารแก้หนี้ได้เท่าใด ก็จะนำไปหักกับตั๋วเงิน และนำวงเงินที่แก้หนี้ได้คืนให้กับแบงก์นั้นๆ โดยออมสินจะไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมในการบริหารใดๆ
“แนวทางการบริหารจัดการหนี้เช่นนี้ เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2540- ปี 2544 โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปสนับสนุนค่าบริการเพิ่มเติม เนื่องจากสามารถใช้หลักการ AMC บริหารจัดการได้เลย ซึ่งได้มอบนโยบายให้ออมสินแล้วในเบื้องต้น โดยให้ออมสินไปพิจารณารายละเอียดแนวทางการดำเนินการ และจะกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้ง”
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดภาระหนี้สินให้กับประชาชน ที่เป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)
ส่วนกรณีลูกหนี้ดีก็จะได้รับการลดดูแล โดยมอบหมายให้แบงก์รัฐไปดูแล ผ่านการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น การตัดเงินต้นมากขึ้น และจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง เพื่อลดภาระหนี้เงินต้น และหมดภาระหนี้สินได้เร็วขึ้น