เอ็นพีแอลแบงก์พุ่ง 2.7% ธปท.เล็งคุมเข้มปล่อยสินเชื่อ

28 ต.ค. 2566 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 08:58 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ไตรมาส 4 ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ยังเป็นแรงหนุนกำไรแบงก์ต่อเนื่อง หลัง 9 เดือนโกยรายได้ดอกเบี้ยกว่า 5.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.9% จับตาความสามารถในการชำระคืนหนี้ ดันเอ็นพีแอลเพิ่ม กดดันธนาคารกันสำรองต่อเนื่อง

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า แรงหนุนจากการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และจากฐานที่ต่ำในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเชิงลบจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ยังคงอ่อนตัวลง สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะหากปรากฏการณ์เอลนีโญมีความรุนแรงขึ้นอีก

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2566 พบว่า มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10.5% รวมมูลค่า 59,473ล้านบาทจาก 53,816 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อรวมงวด 9 เดือนแรก (สิ้นเดือนกันยายน) พบว่า ทั้ง 10 แห่งทำกำไรสุทธิรวม 181,392 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.65% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 159,611 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวม 531,776 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 18.9%จาก 447,068 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 

นำโดยธนาคารกรุงเทพอยู่ที่ 95,695 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 33.3% รองลงมาคือ ธนาคาร กรุงไทยอยู่ที่ 83,058 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 26.2% ตามมาด้วย ธนาคารเกียรตินาคินภัทรอยู่ที่ 16,732 ล้านบาท เพิ่มกว่า 23.4% ถัดไปเป็นธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 91,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% และ ธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่ 109,595 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.1%

 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิหดตัว 2.91% อยู่ที่ 115,982 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 119,464 ล้านบาท โดยมีแค่ 3 ธนาคารที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิปรับเพิ่มขึ้น นำโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 13,970 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.4% ธนาคารกรุงไทยจำนวน 15,438 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.2% และธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) 7,724 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.0%

เอ็นพีแอลธนาคารพาณฺชย์งวด 9 เดือนปี 2566

อย่างไรก็ตาม ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) 10 ธนาคารรวมกัน  511,567 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม(NPL ratio)คิดเป็น 2.98% (ณ งวด 9 เดือนแรกปี 2566) ขยับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่ NPL ratio อยู่ที่ 2.94% ของสินเชื่อรวม แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.10% โดยมีมูลหนี้เอ็นพีแอลจำนวน 515,053 ล้านบาท

ดังนั้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณาตั้งสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) หรือสำรองหนี้อย่างระมัดระวังกว่า 166,864 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 21.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 137,379 ล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัญญาณความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง เห็นได้จากยอดคงค้างเอ็นพีแอลและ NPL ratio ขยับขึ้นเล็กน้อย จากภาพดังกล่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า เอ็นพีแอล ระบบธนาคารพาณิชย์ (28แห่ง) ในไตรมาส 3 น่าจะอยู่ที่ 2.7% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งจะสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิม ซึ่งอยู่ที่ 2.62-2.67%ต่อสินเชื่อรวม แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบคาดการณ์เดิมที่ 2.50-2.75% ของสินเชื่อรวม

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

 อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางจะเห็นธนาคารพาณิชย์ทยอยตัดขายหนี้หรือตัดเป็นหนี้สูญ ปรับโครงสร้างหนี้ โดยปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะออกเกณฑ์สำหรับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งจะเป็นโจทย์ต่อเนื่องในการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งก่อนและหลังเป็นเอ็นพีแอล(ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ แต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล) และการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ก่อนจะดำเนินคดีหรือโอนขายหนี้

 “ธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังและระหว่างทางยังคงมีการตั้งสำรองหนี้ในกรอบสูง แม้เอ็นพีแอลจะอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ” นางสาวกาญจนา กล่าว

 นางสาวกาญจนากล่าวถึงแนวโน้มไตรมาส 4 ของปีนี้ว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์น่าจะกลับมาเติบโตอยู่ในกรอบ 2-2.5% เพราะภาคธุรกิจและรายย่อยมีความต้องการเบิกใช้สินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงฤดูกาล และเทียบฐานสินเชื่อต่ำในไตรมาสสี่ปีก่อน และช่วง 1-3 ไตรมาสเป็นต้นมาในปีนี้มีการชำระคืนสินเชื่อและธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่

 อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารรอดูสถานการณ์ปีหน้า หากเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวดีและประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของสินเชื่อปล่อยใหม่ไม่มาก แนวโน้มจะเห็นการออกแคมเปญเงินฝากดึงสภาพคล่องรองรับความต้องการสินเชื่อปีหน้า ซึ่งธนาคารพาณิชย์ในระบบยังมีแนวโน้มเชิงบวกจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส4  เนื่องจากการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) ล่าสุด และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเป็นแรงผลักดันผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือ

 

หน้า  1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,934 วันที่ 26 - 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566