ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ของธนาคารหลายแห่งปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อผลกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ โดยพบว่า งวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ทำกำไรสุทธิรวมกันถึง 1.21 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้ง 10 แห่งมีหนี้จัดชั้นที่ 2 หรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage2) รวมกัน 914,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,500 ล้านบาท หรือ 3.57% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีทั้งสิ้น 883,070 ล้านบาท
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีความไม่แน่นนอนสูงในครึ่งปีหลัง ซึ่งแทบจะสูงที่สุดตั้งแต่ออกจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ขณะที่ภาระหนี้จะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความอ่อนไหวการบริโภคและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่พึ่งพาการส่งออกส่วนใหญ่ 90% มีแนวโน้มหดตัว
ฉะนั้นแนวโน้มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเติบโตอย่างมาก 3% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยธุรกิจรายใหญ่จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1% ผู้ประกอบการ SMEs ติดลบอ่อนๆ ต่อเนื่อง หลังหมดมาตรการซอฟต์โลน ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนยังสูง จึงไม่ใช่เวลาที่สินเชื่อรายย่อยจะเติบโต และน่าจับตาว่า การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยจะมาจากสินเชื่อเพื่อการบริโภคหรือไม่ เพราะทั้งสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้านนั้นไม่ได้เติบโตเลย
“มองไปข้างหน้า แทบไม่เห็นปัจจัยที่จะทำให้สินเชื่อเติบโตแรง อย่างมากสุด 3% ชะลอลงจากต้นปี 2565 ที่ไตรมาสแรก สินเชื่อทั้งระบบเติบโตที่ 7.0% จากนี้ไป จะไม่เห็นการเติบโตแรงเหมือนที่ผ่านมา อย่างสินเชื่อรายใหญ่เคยเติบโตในอัตรา 2 หลักและรายย่อยโต 5-6%” นายนริศ กล่าว
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อน่าจะตึงตัวมากขึ้น แต่ก็ได้รับการดูแลในระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างดีและระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่ออย่างมาก ส่วนใหญ่ตั้งสำรองแทบจะครบแล้ว ทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะถึง 2.8-3% และจะไม่มี NPL Cliff แน่นอน แม้จะหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ทั้งธปท.และธนาคารพาณิชยยังคงดูแล โดยมีรูมให้ดูแลสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นรายๆ
ส่วนสัญญาณของหนี้จัดชั้นที่ 2 หรือ สินทรัพย์ทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage2) สูงขึ้น นายนริศกล่าวว่า ธนาคารในระบบยังมีการช่วยเหลือลูกค้า ประกอบกับแต่ละธนาคารจะใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท.มากน้อยไม่เท่ากัน จึงอาจจะเห็นภาพไม่หมด แต่ต้องจับตาในระยะยาวว่า ระหว่างมาตรการธปท.กับ Stage2 จะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ โดยเฉพาะแต่ละธนาคารจะรู้ฐานะของลูกค้าตัวเองและรู้ว่า มาตรการจะหมดสิ้นปีนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า สัญญาณการเพิ่มขึ้นของ Stage2 ส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นใน 2 ธนาคารใหญ่ (ไทยพาณิชย์และกรุงศรีอยุธยา) ขณะที่เหลือยังทรงๆ โดยมาจากคุณภาพสินเชื่อ เพราะไม่ว่า สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อประเภทบัตรต่างๆ และสินเชื่อบ้านเริ่มมีปัญหาคุณภาพ ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารเฝ้าระวัง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ธนาคารที่ใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ (มาตรการสีฟ้า) จะช่วยลด Stage2 ได้เร็วกว่ามาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว (มาตรการสีส้ม) ซึ่งต้องรอ 3 เดือน โดยสีฟ้านั้น ลูกหนี้จะได้ต้องได้รับประโยชน์ เช่น ลดดอกเบี้ยหรือลดเงินต้น แต่ไม่ลดค่างวดการชำระ ส่วนสีส้มจะลดค่างวดชำระ แต่จะต้องมีความต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน
ดังนั้นหากลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ในเดือนนี้ จะสามารถออกจาก Stage2 ลงไปอยู่ Stage1 ทันที แต่หากเป็นสีส้มต้องรอ 3 เดือนจึงจะออกจาก Stage2 ลงไปอยู่ Stage1 ได้
“มาตรการฟ้า-ส้มที่จะหมดสิ้นปี อาจกระทบต่อการลด Stage ได้ช้าลง แต่แบงก์ยังคงให้การช่วยเหลือลูกหนี้เช่นเดิม ซึ่งเท่าที่ได้หารือธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนสถาบันการเงินต่อ เพราะธปท.ก็ทราบว่า ภาวะยังไม่กลับมาเป็นปกติ คาดว่ามาตรการใหม่จากธปท.จะออกมาในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน เพื่อรับช่วงต่อก่อนที่มาตรการฟ้า-ส้มจะหมดในสิ้นปีนี้”
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลัง ธนาคารในระบบยังประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้อย่างระมัดระวัง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน เบื้องต้นคาดว่า สินเชื่อจะขยายตัวลดลงมาที่ 2.5-2.8% จากที่เคยประเมินไว้เกือบ 4% แม้จะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ แต่ถูกดันด้วยการชำระคืน ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ทำให้สินเชื่อเติบโตในกรอบชะลอลงเรื่อยๆ ซึ่งไตรมาส 2 อาจชะลอลงเหลือ 1% เทียบ 1.3% ในไตรมาสแรก
“อาจเห็นการกลับมาของสินเชื่อธุรกิจเป็นบวกได้บ้างในไตรมาสสุดท้ายหรือติดลบน้อยลง ถ้าการเมืองเรียบร้อย สินเชื่อรายย่อยน่าจะโตดีกว่าสินเชื่อธุรกิจ แต่โตในกรอบจำกัด ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีแนวโน้มยังติดลบ โดยก่อนหน้ามีการเบิกใช้สินเชื่อ แต่ระยะหลังมีการชำระคืนสินเชื่อซอฟต์โลน/สินเชื่อฟื้นฟู ขณะสินเชื่อรายใหญ่หันไปออกหุ้นกู้ ซึ่งสามารถเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้ ด้านเอ็นพีแอลจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80%
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,912 วันที่ 10 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2566