นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินคาดว่าสิ้นปี 2566 นี้ จะมีกำไรสุทธิกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนต.ค.66 ธนาคารมีกำไรแล้วกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 2.7 หมื่นล้านบาท สาเหตุมาจากการลดต้นทุนอย่างรุนแรง วางเป้าหมายปีละ 1 หมื่นล้านบาท และยังมีรายได้มาจากการทำธุรกิจช่วยเหลือสังคม
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2566 นี้ ออมสินจะควบคุมไม่ให้เกิน 3% และธนาคารยังมีสถานะที่แข็งแกร่ง ได้มีการเพิ่มเงินกันสำรองกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ออมสินจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนานถึงสิ้นปี 2566 และจะดูสถานการณ์อีกครั้ง เพราะหากเงินฝากตึงตัวมากๆ จะต้องดูสถานการณ์แข่งขันของเงินฝาก เนื่องจากอีกข้างหนึ่งของต้นทุนหลักออมสิน คือ เงินฝาก ส่วนโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของออมสิน ต่ำกว่าระดับทั่วไปค่อนข้างมาก ในอดีตโดยทั่วไปต้องสูงกว่านี้ประมาณ 50-75 สตางค์
“การที่กำไรเพิ่มขึ้นมา ไม่ได้มาจากขึ้นดอกเบี้ย โดยออมสินตรึงอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ครึ่งหลังปี 65 รวมทั้ง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ด้วย ซึ่งการตรึงดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้ออมสินสูญรายได้ จึงได้มีการหารายได้ส่วนอื่นมาชดเชย ได้แก่ การขยายขอบเขตธุรกิจในการช่วยคน โดยการเข้าไปทำธุรกิจใหม่ ลดอัตราดอกเบี้ยให้ และให้กลุ่มฐานรากเขาสู่ระบบสินเชื่อ เป็นต้น และเรายังลดต้นทุนอย่างรุนแรง จึงทำให้กำไรของออมสินเพิ่มขึ้นทุกปี”
ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมา ออมสินได้ปรับจุดยืนมาสู่ การเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเข้าถึงเงินทุนอย่างเป็นธรรม โดยช่วยเหลือให้กลุ่มฐานรากเข้าถึงสินเชื่อในระบบในช่วงโควิดได้กว่า 3 ล้านราย ขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลงมา ดูแลลูกค้ากว่า 5 ล้านคน และออมสินยังสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้กว่า 2 แสนคน รวมทั้งปล่อยสินเชื่อดูแลต่อเนื่องกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ออมสินยังอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจน็อนแบงก์ ดิจิทัลเรนดิ้ง จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจน็อนแบงก์ในช่วงปลายเดือนม.ค.67 และจะสามารถดำเนินการได้ช่วงกลางปี 2567