ธ.ก.ส. เร่งขับเคลื่อนมาตรการพยุงราคาข้าว ดูแลเกษตรกรกว่า 1 ล้านราย

07 ธ.ค. 2566 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 09:54 น.

ธ.ก.ส. เร่งขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานมาตรการพยุงราคาข้าว เปลือกปีการผลิต 2566/67 ดูแลเกษตรกรกว่า 1 ล้านราย

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีผลิต 2566/67 ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกแบบครบวงจร ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 1 ล้านราย ประกอบด้วย เกษตรกร 4 แสนราย และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรอีก 6 แสนราย 

ได้แก่ 1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67) เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว

โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงิน 34,437 ล้านบาท กำหนดชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน) เพื่อดูดซับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน 

โดยมีชนิดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ 

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) 
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 
  • ข้าวเปลือกเจ้า 
  • ข้าวเปลือกปทุมธานี 
  • ข้าวเปลือกเหนียว 

และ 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไปได้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน เป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือก 1 ล้านตัน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2567 

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้จ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 ไปแล้ว 303 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 ไปแล้วกว่า 877 ล้านบาท

นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า  การลงพื้นจังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนี้ นอกจากเป็นการติดตามการดำเนินงานในภาพรวม ทั้งด้านระบบงานและการรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ปฎิบัติงาน เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ การดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงผู้แทนจากสถาบันเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ ถึงความต้องการที่จะให้ ธ.ก.ส.เข้าไปสนับสนุน 

ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นว่ามีต้นแบบสถาบันเกษตรกรที่เป็นหัวขบวนสำคัญในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและสะท้อนให้เห็นถึงพลังในการรวมตัวของเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่น เช่น สหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร 

ธ.ก.ส. เร่งขับเคลื่อนมาตรการพยุงราคาข้าว ดูแลเกษตรกรกว่า 1 ล้านราย