จากกรณีที่กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนสามารถดำเนินธุรกิจสินเชื่ออย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ ที่ผู้ให้กู้กับผู้กู้ มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยบริษัทที่ผ่านการอนุญาตจากกระทรวงการคลังถือว่าเป็นสถาบันทางการเงินที่สามารถดำเนินธุรกิจสินเชื่อได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน โดยวงเงินที่ให้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทสำหรับพิโกไฟแนนซ์ และไม่เกิน 1 แสนบาทสำหรับพิโกไฟแนนซ์พลัส อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36%ต่อปี
นายธานินทร์ เงียบประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท99 มงคล จำกัด ผู้รับใบอนุญาต ฟิโกไฟแนนซ์(จ.ตรัง) กล่าวว่า บริษัทของตนเป็นบริษัทนำร่อง เป็น 1 ใน 6 ของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ ชุดแรก เมื่อปี 2560 ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าแล้วกว่า 7,000 ราย มีลูกค้าที่กู้ยืมยังคงสัญญาอยู่ 3,000 กว่าราย วงเงินที่ปล่อยกู้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท หนี้เสียมีน้อย ลูกค้าจะผ่อนตรงสัญญา
บางรายที่ขาดสภาพคล่องก็เข้าไปพูดคุย มีการปรับโครงสร้างหนี้ ใช้หลักประนีประนอมให้ลูกค้า น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ไม่บีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และทางบริษัทอยู่ได้ด้วย ซึ่งแก้ปัญหาได้เกือบทั้งหมด บริษัทไม่ฟ้องร้องลูกหนี้ในชั้นศาล เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาคือพูดคุย ให้โอกาส ในการผ่อนชำระใหม่
นายธานินทร์ กล่าวว่าจุดเด่นของ พิโกไฟแนนซ์คือ ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายและได้รับการอนุมัติที่รวดเร็ว ใช้เงินด่วนในวันเดียว หากเป็นธนาคารเร็วสุด 2 สัปดาห์ รัฐบาลเดินมาถูกทางที่ให้พิโกไฟแนนซ์ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชน กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร พิโกไฟแนนซ์สามารถช่วยลดหนี้นอกระบบให้ประชาชนและรัฐบาลได้ดีมีประสิทธิภาพ
การที่ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ปล่อยสินเชื่อ ชาวบ้านเข้าถึงยาก เจ้าหน้าที่ธนาคารมีงานมากอยู่แล้วกลับมาปล่อยสินเชื่อรายเล็ก ๆ จึงไม่คุ้มค่ากับเวลาและความสามารถของพนักงานธนาคาร
ปัญหาของผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์คือ ขาดเงินทุนมาปล่อยกู้ให้กับประชาชน เพราะความต้องการใช้เงินของประชาชนมีความต้องการตลอด หากรัฐบาลมีนโยบายให้ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้กับพิโกไฟแนนซ์ อย่าวางหลักเกณฑ์ที่สูงและยุ่งยากจนไม่สามารถกู้ได้ เช่นให้ธนาคารปล่อยกู้รายละ 20 ล้าน จังหวัดละ 100 ล้าน 77 จังหวัดยอดเงิน 7,700ล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลอนุมัติเงินให้ ออมสินและ ธ.ก.ส.แบงก์ละ 50,000 ล้านบาท
หากรัฐบาลให้พิโกไฟแนนซ์กู้รายละ 20 ล้านมาปล่อยกู้ รัฐบาลจะได้ดอกเบี้ยและแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ ทั้งมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากพิโกไฟแนนซ์อีกทอด
นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชนคือ รัฐบาลอย่ายกหนี้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะเสียวินัยและขาดความรับผิดชอบ ไม่เป็นธรรมกับประชาชนคนอื่น ๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ รวมกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยกหนี้ให้อีก
นายธีรวัฒน์ หวังศิริเลิศ อดีตประธานหอการค้าตรัง เปิดเผยว่า ต้นเหตุของหนี้นอกระบบคือประชาชนมีรายได้น้อย เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ จึงไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่าย เพราะกู้ง่ายแต่ดอกเบี้ยแพง นานไปดอกเบี้ยท่วมเงินต้นจ่ายหนี้ไม่ไหว ทางแก้ต้องให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม สร้างอาชีพเสริม เพื่อให้มีเงินเพียงพอในครอบครัว
การกู้เงินนอกระบบมีมานานแล้วและมีจำนวนมาก ดอกเบี้ยแพง การที่รัฐบาลให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจไฟแนนซ์ที่ถูกกฏหมาย เช่นพิโกไฟแนนซ์ก็เป็นการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านกู้เงินในระบบที่ดอกเบี้ยไม่สูงมาก เพื่อนำเงินไปแก้ปัญหาในครัวเรือนได้ในระยะหนึ่ง หากชาวบ้านกู้ยืมเงินระยะยาว ร้อยละ 3ต่อเดือน ถึง 3 ปี ดอกเบี้ยจะเท่าเงินต้น ดังนั้นชาวบ้านที่กู้ยืมเงินต้องระมัดระวัง อย่ากู้เงินผ่อนระยะยาวเด็ดขาด หากกู้ยืมเงินมากินมาใช้จะเป็นหนี้ไม่จบสิ้น
รัฐบาลควรจะฟื้นฟูเงิน "กองทุนหมู่บ้าน" ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ที่กู้กลับมาปล่อยสินเชื่อใหม่ผู้กู้รายใหม่ จุดอ่อนของกองทุนหมู่บ้านคือ เงินที่มาปล่อยกู้เป็นของรัฐบาล หากผู้ที่บริหารเงินกองทุนหมู่บ้านไม่เข้มแข็ง จะเกิดปัญหาปล่อยกู้แล้ว เก็บหนี้กลับคืนมาไม่ได้ ชาวบ้านไม่ยอมชำระเงินคืนกองทุน จึงเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้