วันนี้ (14 ธันวาคม 2566) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา Sustainability Forum 2024 หัวข้อ Financial Dynamic for Sustainability จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ธปท. พร้อมช่วยสถาบันการเงินในไทยสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างเห็นผลได้จริง โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยปัจจุบัน ธปท. ต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เริ่มกำหนดแผนและเป้าหมายการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
ทั้งนี้ในปี 2566 ธปท. ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยกระดับการคำนึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน แล้ว 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก ธปท.ได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีหรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน (Standard Practice)
โดยออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อให้สถาบันการเงิน ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
สาระสำคัญของการทำเรื่องนี้ ได้กำหนดโครงสร้างความรับผิดชอบให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงผลักดันในองค์กร พร้อมกำหนดกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แบบต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูล ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ขณะที่ สมาคมธนาคารไทย ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติ (Industry Handbook) ที่พัฒนามาช่วยให้ธนาคารพาณิชย์อ้างอิงตัวอย่างแนวทางที่สากลแนะนำและปฏิบัติใช้ รวมทั้งยังระบุกระบวนการที่สำคัญที่สถาบันการเงินควรรีบดำเนินการ โดย ธปท. จะสนับสนุนและติดตามให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการดำเนินการที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงด้วย
นายรณดล กล่าวว่า เรื่องที่สอง ธปท. ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของทุกภาคส่วนให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน เพื่อลดปัญหาการฟอกเขียว โดย ธปท. ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มีมาตรฐานกลางที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล
พร้อมทั้งได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคขนส่ง แล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 โดยตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเขียว จะสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่กำหนดให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเหลืองสอดคล้องตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไทย
สำหรับ Taxonomy ในระยะถัดไป ธปท. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ทั้ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และภาคการก่อสร้าง ต่อไป
ส่วนในปี 2567 ต้องการเห็นสองเรื่อง เรื่องแรก คือการที่สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงความต้องการและเพียงพอสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว (Transition finance product) ในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
โดยมีตัวชี้วัด และมีการติดตามที่ชัดเจน เช่น สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked loan) หรือสินเชื่อสีเขียว (Green loan) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหวังว่า สถาบันการเงินจะออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างจับต้องได้ เริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
ส่วนอีกเรื่องนั่นคือ การที่สถาบันการเงินเริ่มมีแผนการปรับตัว (Transition plan) ที่ชัดเจนขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง เพราะเป็นกลไกสำคัญสำหรับทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงิน แม้ปัจจุบันจะยังมีคำนิยามที่หลากหลาย แต่มักจะหมายถึงแผนของภาคธุรกิจที่ระบุเป้าหมาย แนวทางดำเนินการ และกรอบเวลา ในการปรับธุรกิจของตนเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
สำหรับภาคการเงิน การกำหนด Transition plan ของสถาบันการเงินในระดับสากล ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงแผนการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากธุรกิจการเงินของตนเอง โดย ธปท. อยู่ระหว่างร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งพัฒนา transition plan สำหรับภาคธุรกิจที่เป็น priority sector ของตนเองอย่างน้อย 1 กลุ่มภายในสิ้นปี 2567
อย่างไรก็ตามการกำหนด Transition Plan ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งการร่วมกันพัฒนา Industry Handbook และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ ช่วยให้ธนาคารมีแนวปฏิบัติและแหล่งข้อมูลสำหรับอ้างอิง ในการพัฒนา transition plan ของตนเองได้ต่อไป
“การผลักดันและพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะข้างหน้า จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ ควบคู่ด้วย โดยเฉพาะมิติด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น การระดมทุนของกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย เพื่อรับมือกับ Loss and Damage ที่เกิดขึ้น และการวางแนวทางให้ภาคการเงินเข้ามาสนับสนุน ถือเป็นความท้าทายที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป”