กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 107.45 ติดลบ 0.44% จากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากเดือนตุลาคม เงินเฟ้อทั่วไป ติดลบ 0.31% ทำให้เกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ แม้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือนยังขยายตัว 1.41%
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนตัวมองว่า ไทยยังไม่เข้าขั้นภาวะเงินฝืด เพราะต้องยอมรับว่า ยังมีการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้จากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องที่ 6-7% โดย EIC ประเมินทิศทางเงินเฟ้อสิ้นปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งจากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนค่าครองชีพ เรื่องค่าไฟฟ้าและราคาพลังงานปรับลดลงด้วย
ทั้งนี้ ปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปน่าจะจบที่ 1.3% และเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะขยายตัวเป็นบวกถึงสิ้นปีที่ 1.3% ซึ่งปัจจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนั้น มาจากราคาพลังงานที่ติดลบเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปีก่อน ส่งผลให้ราคาพลังงานติดลบมาแล้วหลายเดือน แต่ปัจจัยฐานสูงนั้น จะเริ่มทยอยหมดไปในปีนี้
ส่วนแนวโน้มปี 2567 EIC ประเมินตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นมาที่ 2.0% ใกล้เคียงกับธปท. โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภัยแล้งจากเอลนิโญ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดลดลงทำให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว น้ำตาล และอ้อย ซึ่งแนวโน้มราคายังเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า และการจำกัดการส่งออกสินค้า เช่น น้ำตาลในอินเดีย ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 1.3%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ 1 ปีหรือ 5 ปีนั้น อาจจะยังอยู่ในระดับสูง เข้าใจว่า เป็นการรวมปัจจัยช่วยการช่วยเหลือที่อาจจะน้อยลงบ้าง ประกอบกับความเสี่ยงรัฐบาลดำเนินนโยบาย เช่น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะมีผลต่อเงินเฟ้อบ้าง ประกอบกับยังมีปัญหาฝั่งซัพพลายอยู่บ้าง
ด้านดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวถึงความกังวลต่อภาวะเงินฝืดว่า ปีหน้าเรายังมองเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.1% จึงยังไม่เรียกว่า เป็นภาวะเงินฝืด แต่ยอมรับเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเติบโตช้ากว่าที่คาด ด้วยปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก และภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่
ส่วนแนวโน้มตัวเลขเงินเฟ้อปีหน้า มองที่ 1.2-1.7% โดยเงินเฟ้อเดือนสุดท้ายของปียังติดลบ แต่ทั้งไตรมาส 4 สถานการณ์ยังซึมไปถึงปีหน้า โดยมีความกังวลใน 2 มิติคือ ครึ่งแรกปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังคงซึมคล้ายไตรมาส 3-4 ของปีนี้ กำลังซื้อในประเทศยังแผ่ว แต่ปีหน้าจะมีแรงสนับสนุนจากภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกน่าจะพลิกเป็นบวก แม้จะไม่เติบโตมาก
ขณะที่ครึ่งปีหลัง น่าจะเห็นแรงส่งของเงินเฟ้อที่มากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัว แต่ต้นทุนที่สะสมมาเป็นเวลานานไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภค ดังนั้น ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นอาจจะเห็นการขยับราคาชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า แต่ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ซึ่งหากรวมมาตรการดังกล่าว อาจจะมีผลให้เงินเฟ้อขยับขึ้นจากกรณีฐาน 1.7% ได้อีกเล็กน้อยเป็น 2.0%
“ดอกเบี้ยนโยบายปีหน้า เรามองที่ 2.00% และมีโอกาสที่ธปท.จะลดดอกเบี้ยนโยบา ตั้งแต่ครึ่งหลังปีหน้า โดยคาดว่า จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพราะเห็นสัญญาณการทรงตัวของเงินเฟ้อ ขณะเศรษฐกิจไทย แม้จะส่งสัญญาณฟื้น แต่ยังเติบโตในระดับต่ำ ที่สำคัญแรงกดดันจากต่างประเทศ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่จบแล้ว คาดว่าเฟดน่าจะปรับลดดอกเบี้ยได้ 1.00-1.25% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีหน้า ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเริ่มแคบลง ความกังวลต่อเงินไหลออกและค่าเงินบาทน่าจะบรรเทาลง เปิดโอกาสให้ธนาคารกลางในภูมิภาคและไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ในครึ่งหลังปีหน้า”ดร.อมรเทพ กล่าว
ดร.สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 4/2566 ว่า เงินเฟ้อล่าสุดและแนวโน้มจนถึงช่วงต้นปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับต่ำ คาดว่า ไตรมาสแรกปีหน้า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก หลังจาก อัตราเงินเฟ้ออยู๋ในระดับช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนั้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า 2.ฐานที่สูงในปีก่อนโดย โดยเฉพาะในหมวดอาหารสด จากภัยน้ำท่วมในปี 2565 ทำให้ราคาผักผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น และ 3.ปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งซัพพลายจากราคาหมู แต่ปัจจุบันเริ่มคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนจะไม่ติดลบ หากไม่รวมผลมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ โดยเงินเฟ้อจะเป็นบวกเฉลี่ยเกือบ 1% คือ 0.9% และ 0.7% ตามลำดับ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,949 วันที่ 17 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566