ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่คอยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด 19 แต่สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.7%
เมื่อพิจารณาสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยหนี้สินครัวเรือนมีเพิ่มขึ้นมาจากหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนมากเป็นสองอันดับแรกของหนี้สินครัวเรือนทั้งหมด
ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งขยายสินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้วยการจัดแคมเปญต่างๆ ล่อใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
แม้ว่าที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการออกกฎคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้มีความรัดกุมมากขึ้น แต่ก็สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ล่าสุดธปท.ได้ ยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินใหม่ ด้วยการออกประกาศ เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลช่วยเหลือหนี้เดิม
โดยเฉพาะหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้า (nudge) ตลอดวงจรหนี้และส่งเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว
หลักการสำคัญของประกาศ เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เชื่อมโยงกับหลักการของประกาศ ธปท.ว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ที่มุ่งหมายให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย
1. ลูกค้าเชื่อมั่นได้ว่าผู้ให้บริการมุ่งเน้นการให้บริการอย่างเป็นธรรม บริการลูกค้าอย่างจริงใจ ไม่เอาเปรียบ
2. ลูกค้าได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมและชัดเจน
3. ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ และบริการที่เป็นธรรมทั้งด้านราคาและเงื่อนไข
4. ลูกค้าสามารถใช้บริการได้สะดวกและได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม
5. ลูกค้าเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเอง โดยผู้ให้บริการ มีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้ลูกค้ามีความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงสามารถบริหารจัดการเงิน และหนี้ได้อย่างเหมาะสม
ประกาศฉบับนี้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้เพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ผู้ให้บริการต้องมีการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ ใน 8 ด้าน ดังนี้
1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถในการชำระหนี้และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ (risk-based pricing) รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า
2. การโฆษณาผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือนเพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้าและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
3.กระบวนการขาย ผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้าและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
4.การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability) ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (residual income) ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้า อย่างเต็มที่เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ (best effort)
5. การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้ ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge) เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง (responsible borrowing)
6. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้ลูกหนี้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้อย่างเหมาะสม
7. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้โดยเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์
8.การดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ รวมถึงภายหลังจากการโอนขายหนี้ ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม