หลังจากที่ปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนไปอยู่ในระดับ 5.25%-5.5% ทำให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% โดยการปรับขึ้นของแต่ละประเทศนั้น มีเป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เติบโต แต่สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวติดต่อกัน 3 เดือน
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในไตรมาสแรกของปี 67 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสที่จะติดลบไปมากกว่านี้ เนื่องจากนโยบายการลดภาระค่าของชีพด้านพลังงานของภาครัฐ
ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อไทยเราติดลบถือว่าเป็นแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรอยู่ในช่วงขาลงเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สามารถทำได้ในช่วงนี้แน่นอน เพราะเสี่ยงมากที่จะทำให้ตลาดทุนเกิดความตกใจ นักลงทุนต่างชาติอาจจะขายสินทรัพย์เพื่อไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยคุ้มค่ามากกว่า รวมถึงส่งผลต่อคามผันผวนของค่าเงินด้วย และไทยคงไม่อยากเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2567
ขณะเดียวกัน ส่วนตัวมองว่า การที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติในการประชุมครั้งล่าสุดให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ไม่ได้ปรับลดลง ด้วยความเป็นห่วงเรื่องของภาวะเงินเฟ้อที่อาจะเกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ถึงขั้นต้องคำนึงถึง
อย่างไรก็ตาม ทางเดียวที่จะทำให้ ธปท. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้คือการที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาไม่ดี ซึ่งปัจจุบันอยู่ เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในช่วงเติบโตชะลอตัวเสียด้วย
ขณะที่นายณัฐ ตรีพูนสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ว่า ในมุมมของนักวิเคราะห์ มองว่า ควรรอให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อน จากนั้นไทยจึงค่อยลดตาม โดยตลาดคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดในช่วงเดือนที่ 3 แต่ก็ต้องจับตาการประชุมนัดแรกของปี ว่าเฟดจะส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่านั้นหรือไม่
สำหรับความกังวลที่ว่า หากไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกนอกประเทศนั้น ยืนยันว่า ตลาดมีความกังวลลดลงแล้ว แต่นักลงทุนต่างชาติ มองถึงความเสี่ยงเรื่องนโยบาย ดิจิทัล วอลเล็ต อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของไทย จะโดนปรับเรตติ้งหรือไม่ อาจจะมีขายสินทรัพย์ที่ถือในไทยออกบ้าง แต่ส่วนมากจะเป็นสินทรัพย์ระยะสั้นที่เน้นเก็งกำไร
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลายราย ระบุ ถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์กำไรทะลุ 2.2 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้ภาคธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM สูง ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น มองว่า ต้องไปดูว่า ROE (Return on Equity) หรือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มีมูลค่าเท่าไหร่ โดยส่วนมากธนาคารใหญ่ ๆ จะอยู่ที่ราว 7-9% ซึ่งไม่ได้ถือว่าสูงมาก หากนำเงินไปลงทุนในส่วนอื่น ๆ อาจจะคุ้มค่ากว่านี้
ที่มา : รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ (Weekly) ณ 5 ม.ค. 67 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง