กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อ พร้อมบอกด้วยว่า การที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการ
พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงสายวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยยอมรับว่า ได้พูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. มาตลอด แต่จุดยืนของตนชัดเจน คือ ไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ถือเป็นอำนาจของธปท.
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ขยายความเรื่องนี้กับฐานเศรษฐกิจว่า ปกติแล้วนายกฯ ได้หารือกับผู้ว่าฯ ธปท.มาโดยตลอด โดยเป็นการหารือในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท. จะต้องมารายงานเรื่องของเงินเฟ้อให้กับรมว.คลังเป็นประจำอยู่แล้ว และไม่มีเรื่องการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท.
“การที่นายกฯ ซึ่งมีหมวกอีกใบคือ รมว.คลัง ก็พูดคุยกับผู้ว่าฯ ธปท. ตามปกติ เพราะ ธปท.ต้องมารายงานเรื่องเงินเฟ้อเป็นประจำอยู่แล้ว โดยความสัมพันธ์ก็เป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรขัดแย้ง และเรื่องภายในระหว่างรัฐบาล-ธปท. ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าในอีกมุมหนึ่ง นายกฯ มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยในภาวะแบบนี้ไม่ได้เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวระบุว่า รัฐบาล ได้มีการติดตามข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้ แต่ในกลไกการทำงานรัฐบาล ก็ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท. หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้ เพราะถึงมีข้อเสนอ หรือมีสัญญาณอะไรออกไป กนง.ก็มีวิธีประเมินเศรษฐกิจของตัวเองอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดีในฐานะของรัฐบาลเองก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูเรื่องของผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ เป็นกระทรวงหลักร่วมมือกับกระทรวงต่าง ๆ ช่วยกันดูแลเรื่องของราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรด้วยว่า เป็นอย่างไร และมีผลกระทบมากแค่ไหนด้วย
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมาทางคณะที่ปรึกษาฯ ได้มีการหารือครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับผลประกอบการของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีกำไรจำนวนมากสวนทางกับเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
ทั้งนี้มองว่า ธปท.ควรจะมีนโยบายหรือมาตรการทางด้านการเงินออกมาเพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น และลดช่องว่างของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ให้มากกว่านี้ เช่นเดียวกับการกำกับสถาบันการเงินให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเร่งด่วนด้วย
“ปัจจุบันถ้า ธปท.เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน การจะมีมาตรการอะไรออกมา ก็สามารถทำออกมาได้ เพราะนโยบายทางการเงินมีหลายเรื่องที่ทำได้ และต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะไม่ดีสูง โดยเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าพูดเพื่อให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่อยากให้ดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ตอนนี้ยังไม่ดีเท่าไหร่” นายพิชัย ระบุ
อย่างไรก็ตามในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจนั้น ทางทีมที่ปรึกษาฯ จะมีการนักดหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก่อนจะทำข้อมูลเสนอไปให้นายกฯ พิจารณาอีกครั้ง