วันที่ 11 ม.ค. 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.งบประมาณฯ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ สส.ก้าวไกลจี้ถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจ ว่า เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศมา จึงได้สอบถามว่า วิกฤตเศรษฐกิจมีหน้าตาเป็นอย่างไรและตัวชี้วัดเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ตอบคำถามเรา ยกเว้นสำนักงบประมาณ
โดยมีการเล่าให้ฟังว่า วิกฤติจะมีอะไรบ้าง ทั้งวิกฤตทางด้านสถาบันทางการเงินที่มีเอ็นพีแอลสูง ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่มีคนแห่ไปถอนเงิน หรือวิกฤติภายนอกที่มีวิกฤตมาจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาเรื่องการส่งออก-นำเข้า ที่นำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หรือแม้กระทั่งวิกฤติแรงงานที่คนตกงานเป็นจำนวน หรือวิกฤติทางด้านการคลัง คือเงินคงคลังลดต่ำ ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ ที่อยู่ในกลุ่มคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย โดยจะต้องให้ความเห็นกับนายกรัฐมนตรีว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในวิกฤติหรือไม่
เมื่อถามว่า หน่วยงานได้มีการสะท้อนวิกฤติตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ได้พูดตรง ๆ เช่นนั้น เพียงแค่เล่าให้ฟังว่า หากวิกฤตมีหน้าตาเช่นไร ซึ่งเราก็สามารถที่จะอนุมานได้ว่า เท่าที่ไล่มา 5-6 วิกฤตินั้น ยังไม่มีอันไหนที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันได้
ส่วนในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลดำเนินการจะผ่านด่านแรกไปใช่หรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ก็หินอยู่ และไม่รู้ว่า เขาจำเป็นจะต้องไปคิดค้นวิกฤติใหม่ขึ้นมาหรือไม่ เพื่อทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยไม่สู้ดีจริงๆ โตต่ำจริงๆ และต้องการการที่จะเข้าไปเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ต้องตีความว่า
หากเกิดวิกฤตจึงจะสามารถทำได้ ทำให้เป็นอุปสรรคไม่ใช่ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจดี และที่สำคัญจะเป็นการเซ็ตบรรทัดฐานด้วย หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทผ่านได้ ต่อจากนี้รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องแคร์งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว ตอนนี้เราก็บอกแค่ว่า ต้องการการกู้เงินและสามารถกู้ได้เลย ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคต
ส่วนกรณีที่รัฐบาลแนะนำว่า ให้กลับไปดูที่ตลาดมีวิกฤตเศรษฐกิจประชาชนเดือดร้อนจริงหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เห็นด้วยว่า เศรษฐกิจไม่ดี การจับจ่ายใช้สอยก็ฝืด และต้องการการเข้าไปแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยเร่งด่วนที่ไม่ต้องรอจนถึงเดือนพฤษภาคม หากวันนี้ตลาดเงียบ ค้าขายลำบาก ก็ให้รัฐบาลเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอจนถึงเดือนพฤษภาคม ไม่ต้องรอให้มีการกู้เงินก่อนสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้เลย
เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้านหากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เข้ามาในสภาฯ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดก่อนว่า รายละเอียดที่รัฐบาลส่งมาหน้าตาเป็นอย่างไร มีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่อย่างไร แต่ในเชิงหลักการเราก็ต้องตีความตามกฎหมายก่อนว่า เป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำไว้ว่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขก็สามารถที่จะทำตามได้ หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขก็ถือว่า ผิดกฎหมาย แต่ ณ ตอนนี้เรายังไม่เห็นหน้าตาของความจำเป็นเร่งด่วนวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยที่งบประมาณไม่สามารถตั้งไว้ได้ทัน และเราคงต้องโหวตไม่รับร่างไปก่อน แต่ทั้งนี้ก็จะขอดูร่างพ.ร.บ.กู้เงินก่อน
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า รัฐบาลจะดำเนินการนโยบายดังกล่าวทันกรอบเดือนพฤษภาคม น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราคงต้องช่วยกันลุ้น ซึ่งวันนี้วันที่ 11 มกราคม แล้วแต่ก็ยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ นอกจากนี้ยังต้องไปร่างตัวร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะเข้ามาสภา ซึ่งหากผ่านสภาได้ก็คงจะผ่านเพราะเขาคุมเสียงข้างมากไว้
"แต่ก็ยังมีด่าน สว. อีก ซึ่งก็ยังสามารถดีเลย์ได้อีกหากส.ว. โหวตไม่รับหลักการ และต้องมีการตีกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรว่า จะยังคงเห็นชอบชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่ แต่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานรวมถึงนักร้องขาประจำที่จ้องจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เราก็ช่วยลุ้นว่า จะทำทันเดือน พ.ค. 2567 หรือไม่" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว