วันนี้ ( 1 มีนาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยน.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ในฐานะโฆษก ธปท. แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตามยังขยายตัวได้ต่ำ โดยมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การส่งออกกลับมาดีขึ้นเล็กน้อย
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ รายได้รับจากนักท่องเที่ยว ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีไปยังด้านอุปทานในภาคการผลิตบริการ
การบริโภคภายในประเทศ ยังทรงตัว แต่การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นจากการลงทุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และก่อสร้าง การส่งออก ผงกหัวกลับขึ้นมา
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ขณะที่ฝั่งอุปทาน ผลผลิตด้านการเกษตรปรับลดลงต่อเนื่อง ผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ ส่งผลข้าวนาปีในภาคอีสาน ส่งผลให้ฝั่งอุปทานลดลงอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า สำหรับตัวขับเคลื่อนสำคัญ การท่องเที่ยวเดือนมกราคม 67 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.04 ล้านคนเ เพิ่มจากเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.5 % หลัก ๆเกิดจากมาตรการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวยุโรป ไม่รวมรัสเซียและอินเดีย สำหรับรายจ่ายนักท่องเที่ยว เร่งขึ้นสูง 17.1 % มาจากรายจ่ายต่อวัน สะท้อนจากการเข้าพักในโรงแรมที่มีราคาสูงขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากช่วงเทศกาล
“ขณะที่ผลดีจากนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีการผลิตภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.5 % ทั้งภาคขนส่งสินค้า และภาคการค้า จากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผลดีเกิดจากมาตรการอีซี่ อี-รีซีท กลุ่มโรงแรมและภัตตราคารปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและอัตราการพักแรมเพิ่มขึ้น”น.ส.ชดาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เทียบเดือนต่อเดือน (MoM) 0.0 % อย่างไรก็ดีปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายหมวด หมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ อีซี่ อี-รีซีท เช่นเดียวกัน และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า หมวดสินค้าคงทน เด้งกลับขึ้นมาจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลตามการส่งมอบรถยนต์หลังงานมอเตอร์เอ็กซ์โปร
ภาคบริการ อาทิ โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่งผู้โดยสารมาจากนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น หลัก ๆ เกิดจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก หมวดกึ่งคงทนยังทรงตัว
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ในส่วนของความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาพรวม โอกาสการหางานทำ รายได้จากประโยชน์มาตรการภาครัฐ เช่น อีซี่ อี-รีซีท มาตรการลดค่าครองชีพ ยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นที่คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา
“ถ้าไปถามความกังวล ยังมีความกังวลอยู่ว่า แม้เศรษฐกิจฟื้นแต่ฟื้นช้า และมีค่าครองชีพหลายตัวอยู่ในอันดับที่สูง รวมถึงกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลก”น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนกลับมาเพิ่มขึ้น 2.6 % จากที่ลดลงไปจากเดือนก่อนทั้งในหมวดการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนในหลายหมวด ที่เห็นชัด คือ โทรศัพท์มือถือ เครื่องจักรงานทั่วไป ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับลดลงต่อเนื่องจากกลุ่มรถบรรทุก การลงทุนก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น ยอดจำหน่ายเสาเข็ม คอนกรีต และสุขภัณฑ์
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ในมุมของด้านความเชื่อมั่นการลงทุน ภาคการผลิต ปรับตัวดีขึ้น เช่น กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ รวมถึงยานยนต์ และมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มเติม กลุ่มไม่ใช่การผลิต กลุ่มโรงแรมลดลง เนื่องจากเร่งลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้วเพื่อรับนักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา อาจจะมีกลุ่มก่อสร้าง ขนส่ง บริการทางการเงินที่ความเชื่อมั่นลดลง
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า การส่งออกเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.7 % เทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นหลายหมวด กลุ่มสินค้าเกษตร การส่งออกข้าว เนื่องจากยังได้ประโยชน์จากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว กลุ่มสินค้าอิเลกทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นจากอุปกรณ์สื่อสารที่ส่งออกไปฮ่องกง ยุโรป กลุ่มเคมีภัณฑ์ ปรับตัวขึ้น จากการส่งออกไปอินเดียและญี่ปุ่น ปิโตรเคมีประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การส่งไปจีนจึงลดลงต่อเนื่อง หมวดที่ปรับลดลง ได้แก่ หมวดยานยนต์ ส่งออกไปอาเซียน และแผงโซลาร์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมปีต่อปี (YoY) หดตัว 2.9 % เทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ แต่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาล เนื่องจากปิดหีบช้าจึงมาเร่งในเดือนมกราคม เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศที่เร่งผลิตเพื่อส่งไปสหรัฐฯ และรถยนต์นั่งเพื่อทยอยส่งมอบหลังงานมอเตอร์เอ็กซ์โปร ส่วนที่หดตัว คือ ไอซี และเซมิคอนดักซ์เตอร์ จากความต้องการและส่งออกชะลอตัวลง อีกหมวดซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวคือปิโตรเลียมที่มีการปิดซ่อมโรงกลั่นชั่วคราว
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ตลาดแรงงานปรับแย่ลงเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ลดลงจากภาคการผลิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก และเห็นการจ้างงานลดลงในภาคบริการบางสาขา เช่น การค้าและการก่อสร้าง
“สัดส่วนผู้รับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 จากภาคการผลิตและบริการเป็นอีกเครื่องชี้ที่สะท้อนให้เห็นว่าภาคแรงงานอ่อนแอลง จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด”น.ส.ชญาวดีกล่าว
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ในส่วนของรายจ่ายภาครัฐหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ไม่รวมเงินโอน เฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลหดตัวสูงตามงบประมาณปี 67 ที่ล่าช้า รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา อย่างไรก็ตามการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของการลงทุนด้านคมนาคมและพลังงาน
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ ติดลบ – 1.1 % ลดลงเทียบกับเดือนก่อนหน้าติดลบ -0.83 % ในทุกหมวดหลัก หมวดพลังงาน ลดลงจากราคาผักและผลไม้เป็นหลัก ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่ยังเอื้ออำนวยอยู่ หมวดพลังงาน ที่ยังลดลงจากผลของฐานที่สูงจากกลุ่มน้ำมันเบนซิน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย 0.52 % ลดลงเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.58 %
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ด้านเสถียรภาพต่างประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมกราคมขาดดุลเล็กน้อย 0.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วเกินดุล ขาดดุลจากการนำเข้าทองคำมากขึ้น หากดึงทองคำออกดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นบวกเล็กน้อย ดุลบริการรายได้และเงินโอนเกินดุลจากรายรับจากการท่องเที่ยว
น.ส.ชญาวดีกล่าว สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ.เดือนมกราคมค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสิ้นปี จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ค่อนข้างดี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีท่าทีคงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
น.ส.ชญาวดีกล่าวว่า ขณะที่เงินเฟ้อไทยปรับตัวลดลงและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง ในเดือนกุมภาพันธ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยรวมปรับอ่อนค่าลงจากเดือนก่อนหน้า มาจากท่าทีของเฟดที่ยังไม่ปรับดอกเบี้ยยังคงอยู่ และแนวดโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยปรับตัวลดลง ทำให้ตลาดคาดว่าอาจจะมีผลต่อนโยบายการเงินของไทยในระยะต่อไป