ในสภาวะที่ ความท้าทายหลักของเศรษฐกิจไทย ในเวลานี้ คือการยกระดับ การเติบโตของจีดีพี ในระยะสั้น กลาง และระยะยาว เป็น 3% 4% และ 5% ตามลำดับเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูง
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (World Bank) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ไทยยังคงมีพื้นที่ทางการคลังที่จะลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน และควรลดกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ การลงทุนยังไม่ได้หมายถึงเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนด้วย รวมถึงด้านการศึกษา การเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะ และโครงการลงทุนใหญ่ๆที่ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
“ไทยควรจะลงทุนทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะยกระดับการเติบโตของจีดีพี เพราะเรายังโตแค่ 3% เราควรจะไปได้ถึง 4% หรือ 5% จึงจะสามารถไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งในการจะไปสู่เป้าหมายนั้น เราต้องลงทุนในทุนมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรวม” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกกล่าว และให้ความเห็นว่า
มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่นั้น ถึงแม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ประมาณ 1% แต่ก็เป็นมาตรการที่ครอบคลุมเกือบทุกคน ไม่ได้เจาะจงผู้ที่ยากจน เพราะฉะนั้น ต้นทุนจะค่อนข้างสูง และสร้างภาระทางการคลังเกือบ 3% ต่อจีดีพี ซึ่งก็จะเป็นภาระต่อไปในอนาคต
“ถามว่าเราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยมาตรการอย่างดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ เวิลด์แบงก์มองที่ตัวเลขการบริโภคของไทย หรือ private consumption ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ก็เห็นว่ายังมีการเติบโตค่อนข้างดี อาจจะมีการชะลอบ้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ครัวเรือนที่ของไทยถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน อาจจะกลายมาเป็นตัวบั่นทอนการบริโภค”
นอกจากนี้ ยังมองว่า การส่งออกที่ชะลอตัว และการใช้จ่ายงบที่ล่าช้า ก็เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจของไทยด้วยเช่นกัน
ต่อคำถามที่ว่า ถึงเวลาที่ต้องใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายและปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้หรือยัง ในมุมมองของเวิลด์แบงก์ที่ออกรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทยล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมและกำลังจะมีการปรับตัวเลขประมาณการณ์ใหม่ในเดือนเมษายนนี้ มองว่า ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจและด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อซึ่งยังคงมีอยู่ เนื่องจากมีราคาบางส่วนถูกคุมไว้ด้วยมาตรการตรึงราคา จึงเห็นว่ายังมีแรงกดดันเงินเฟ้อที่แฝงอยู่
นโยบายการเงิน-นโยบายดอกเบี้ยของไทยขณะนี้ ถือว่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อมองจากตัวเลขทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยลงมา แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้มีเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย แต่เวิลด์แบงก์มองว่า นโยบายดอกเบี้ยนั้นต้องคำนึงถึงประเด็นเงินเฟ้อของไทยเป็นหลักรวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ