"นิกเคอิ" ขยี้ปมเห็นต่างประเด็นดอกเบี้ย ผู้ว่าแบงก์ชาติ VS นายกฯ

23 ก.พ. 2567 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 03:26 น.

สื่อญี่ปุ่น “นิกเคอิ เอเชีย” สัมภาษณ์ “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ลั่นเศรษฐกิจไทย “ไม่วิกฤต” ไม่ควรเร่งลดดอกเบี้ย สวนความต้องการนายกฯ ที่เร่งเร้าธปท.ปรับลดดอกเบี้ย ยันลดไปก็ไม่ช่วยดึงทัวริสต์จีนใช้จ่าย หรือเพิ่มอุปสงค์ส่งออก

 

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย (Nikkei Asia) เผยแพร่สัมภาษณ์พิเศษ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันพุธ (21 ก.พ.) ระบุว่า ธปท.ยังยืนยันไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยตามเสียงเรียกร้อง โดยนายเศรษฐพุฒิในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวว่า ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยนั้น ไม่สามารถแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน

ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวกับสื่อญี่ปุ่นว่า ธนาคารกลางไม่ได้ดันทุรังเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่คงอยู่ในอัตราสูงในรอบ 10 ปี แต่เรียกร้องให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เป็นลบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากอุปสรรคทางการเมืองทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 เกิดความล่าช้า

นายกฯเศรษฐาออกมาเรียกร้องอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (19 ก.พ.) ให้ ธปท.จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไป

"ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลต้องกระจายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบติดต่อกัน 4 เดือน ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ควบคู่ไปกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการส่งออกที่หดตัว แต่ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิเสธเสียงเรียกร้องของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ที่เรียกร้องให้ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ นายกฯเศรษฐาออกมาเรียกร้องอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ (19 ก.พ.) ให้ ธปท.จัดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉุกเฉินก่อนการประชุมปกติครั้งต่อไปซึ่งตามกำหนดคือจะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.2567

นายเศรษฐพุฒิกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขาเองกับนายกฯ ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังว่า ต่างก็เป็น"เป็นมืออาชีพ" และมีความ “เป็นมิตร” แต่เขายืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่นายกฯเศรษฐากล่าวว่า ตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจไทยบ่งบอกเศรษฐกิจที่อ่อนแอในขั้นวิกฤต (crisis) เพื่อที่จะให้ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเศรษฐพุฒิกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขาเองกับนายกฯ ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังว่า ต่างก็เป็น"เป็นมืออาชีพ"

แต่ทัศนคติของนายเศรษฐพุฒินั้น เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจจะอ่อนแรง แต่ก็ฟื้นตัวอยู่และยังจะคงทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ความพยายามเร่งเร้าธปท.ในเรื่องดอกเบี้ยของรัฐบาล ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

นายเศรษฐพุฒิเองนั้นวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ จะครบกำหนดสิ้นปีหน้า (2568) โดยเขาไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยเนื่องจากจะถึงกำหนดวัยเกษียณในปีดังกล่าว

"มีความตึงเครียดเชิงสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่าเรามีบทบาทที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎหมาย" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ก่อนหน้านี้ เขาเองก็ต้องทนทานต่อกระแสเรียกร้องที่มีมาตลอดๆ เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยที่ฝ่ายเรียกร้องต้องการให้ปรับลดดอกเบี้ยลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องยืนยันว่า ลดดอกเบี้ยลงตอนนี้ไม่ได้ มันไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมเพราะเศรษฐกิจของเรายังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ

ด้านนายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หน้าที่ของตน (นายกฯ) คือการอธิบายให้ฟังถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ความเป็นอิสระ และความที่เราไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่เชื่อว่าตนและผู้ว่าฯ ธปท. มีความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ข้อมูลอ้างอิง