KEY
POINTS
20 มี.ค. ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดระบบพิจารณาคำขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เป็นวันแรก แต่ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มทุนใดยื่นขอใบอนุญาต โดย ธปท.จะเปิดรับสมัครนาน 6 เดือน และจะร่วมกับกระทรวงการคลังพิจารณาคุณสมบัติและแผนธุรกิจผู้ยื่นใบสมัครอีก 9 เดือน และให้เวลาผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับใบอนุญาต เตรียมตัวจัดตั้งธุรกิจอีก 1 ปี จึงคาดว่าธนาคารไร้สาขาแห่งแรกของไทย จะเปิดบริการได้เร็วที่สุดในช่วงกลางปี 2569
อย่างไรก็ตามมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหญ่ในการจับคู่ธุรกิจให้บริการธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมี 4 กลุ่มทุนใหญ่สำคัญ ที่ชัดเจนมากสุด คือ กลุ่มธนาคารกรุงไทย ร่วมกับกลุ่มเอไอเอส และกัลฟ์ (อยู่ระหว่างเจรจาดึง โออาร์ เข้าร่วม) ขณะที่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จะร่วมกับ Kakao Bank (เกาหลีใต้) ที่มีประสบการณ์การให้บริการ Virtual Bank ในเกาหลีใต้, กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์, Ascend group และ Ant Financial ในเครืออาลีบาบากรุ๊ปในจีน และกลุ่มเจมาร์ท และพันธมิตร KB Financial group (เกาหลีใต้)
โดยนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส (J Ventures) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีในเครือ บมจ.เจ มาร์ท (JMART) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความพร้อมของกลุ่มเจมาร์ท ในการขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank โดยตัวเจมาร์ทเองมีผ่านคุณสมบัติที่กำหนดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมองว่าการทำ Virtual Bank ต้องมีพาร์ทเนอร์ ซึ่ง KB Financial group (เกาหลีใต้) เป็นพาร์ทเนอร์เดิมของเจมาร์ทอยู่แล้ว โดยจะเข้ามาช่วยงานบริการธนาคาร อย่างไรก็ตามตามเงื่อนไขของ ธปท. กำหนดให้ผู้ยื่นขอใบอนุญาตบริการ Virtual Bank เป็นผู้ประกอบการในประเทศ 51% และต่างชาติ 49% ซึ่งหมายความว่าหากมีการจัดตั้ง Virtual Bank เจมาร์ทจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
“ตอนนี้แบงก์ชาติ เพิ่งเปิดให้ยื่นขอไลเซนส์ ตนเชื่อว่าการจับขั้วธุรกิจยังเปิดกว้าง โดยเจมาร์ท อาจจะไปจับมือกับ เอสซีบีเอ็กซ์ก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าก่อนสงกรานต์จะเห็นภาพการจับขั้วธุรกิจเพื่อยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ชัดเจนขึ้น โดยมองว่าการมี Virtual Bank หลายรายและแข่งขันกันรุนแรง ท้ายสุดไปไม่รอด ซึ่งจะทำ Virtual Bankให้อยู่รอดนั้นต้องร่วมมือกัน”
นายธนวัฒน์ อธิบายว่า ขณะกลุ่มผู้สนใจ Virtual Bank แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธนาคารแบบดั้งเดิม คือ กรุงไทย และ เอสซีบีเอ็กซ์ กับ กลุ่มนอนแบงก์ คือ ซีพี กับเจมาร์ท ซึ่งการจะให้ Virtual Bank จะเกิดประโยชน์จริงกับประชาชนนั้นจะต้องเป็นกลุ่มนอนแบงก์ เพราะจะช่วยให้คนที่ไม่เคยเข้าถึงบริการการเงิน สามารถเข้าถึงบริการการเงินได้มากขึ้น เช่น กลุ่มเจมาร์ท มีฐานลูกค้าซิงเกอร์ทั่วประเทศ 7 แสนคน มีฐานลูกหนี้ JMT ที่ไม่สามารถกู้เงินธนาคารได้ และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ อยู่ 5-6 แสนราย และมีฐานลูกค้าสุกี้ตี๋น้อย วันละ 50,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินจากธนาคารดั้งเดิม
ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เอไอเอส และพันธมิตร คือ ธนาคารกรุงไทยและกัลฟ์ ยังไม่ได้ยื่นขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย หลังเปิดให้ยื่นขอวันแรก โดยยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 6 เดือน ซึ่งตอนนี้ธนาคารกรุงไทย ,เอไอเอส และกัลฟ์ ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากฎระเบียบ และดำเนินการขอใบอนุญาต จัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank แล้ว
ขณะที่นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่าเบื้องต้นกลุ่มกัลฟ์ จะร่วมกับธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยยังมีระยะเวลาอีก 6 เดือน ในการเตรียมตัว ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างพูดคุยกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม
ความพร้อมในการจัดตั้ง Virtual Bank คิดว่าพาร์ทเนอร์ทั้ง 2 บริษัทมีความพร้อมทั้งตัวบริษัทและความเข้าใจการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกรุงไทยแบงค์ ที่มีกระบวนการให้บริการการเงิน การโอนเงิน ขณะที่เอไอเอส มีฐานผู้ใช้บริการทั่วประเทศ 40 กว่าล้านคน ในอนาคต Virtual Bank ก็อยู่บนมือถือ ชีวิตประจำวันของคนจะอยู่บนหน้าจอมือถือมากกว่าคอมพิวเตอร์ เชื่อว่าการมีเอไอเอส ที่มีความแข็งแกร่ง และมีความรู้จะช่วยต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต
Virtual Bank จะทำให้คนการเข้าถึงบริการการเงินได้มากขึ้น สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสกู้เงิน ที่ไม่มีหลักประกันอะไรมาวาง ซึ่งต้องใช้ระบบ การตรวจสอบเครดิต โดยใช้ข้อมูลจากการใช้มือถือ และข้อมูลแบงก์ มาตรวจสอบว่าลูกค้ามีความสามารถกู้เงินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมองว่า Virtual Bank จะทำให้คนเข้าถึงบริการการเงินดีขึ้น ดอกเบี้ยก็ไม่สูง
สำหรับเกณฑ์ Virtual Bank ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ที่เข้มงวดนั้นมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ ที่ฝากเงิน กู้เงิน เพราะเป็นบริการผ่านดิจิทัล มีโอกาสที่หายไป ส่วนแผนธุรกิจยังไม่มีการหารือชัดเจน แต่มีการคุยกันว่าการเข้าไปถึงฐานลูกค้ากรุงไทย และเอไอเอส น่าจะมีโอกาสมากอยู่ Virtual Bank ไม่ได้มุ่งปล่อยเงินกู้กับรายใหญ่เป็นหลักล้านบาท แต่ให้บริการเงินกู้กับรายย่อย 3 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท เต็มที่ก็แสนหรือสองแสนบาท เป็นการให้คนส่วนมากของประเทศเข้าถึงบริการเงินกู้ได้ โดยไม่ต้องเอาที่ดิน หรือ รถยนต์ไปค้ำประกัน ซึ่งจะพิจารณาจากบิลมือถือว่ามีความสามารถการชำระคืน
ทั้งนี้มองว่าการให้บริการ Virtual Bank ใครที่มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาให้บริการแล้วมีเสถียรภาพ สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง นั้นจะสามารถสร้างความได้เปรียบการแข่งขัน
นายสารัชถ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เบื้องต้นบริษัทร่วมทุนจะมีทุนจดทะเบียน 5 พันล้านบาท ตามเงื่อนไข ธปท.กำหนด อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้คุยกันว่าใครจะถือหุ้นสัดส่วนเท่าไร ซึ่งเงินทุนจัดตั้ง Virtual Bank ลงทุนเทคโนโลยี จะอยู่ในวงเงิน 5 พันล้านบาท ถ้าหากไม่พอก็สามารถเพิ่มทุนได้อีก
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (กลุ่มซีพี) กล่าวว่า การขอจัดตั้ง Virtual Bank ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ส่วนที่จะจับมือกับพันธมิตรรายอื่นเพื่อจัดตั้ง Virtual Bank หรือไม่ ณ วันนี้ยังไม่มี แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่บริษัทในเครือมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง คือ ทรูมันนี่ อยู่แล้ว ยังรวมไปถึง แอนท์ กรุ๊ป เป็นต้น ส่วนความพร้อมในการยื่นขอไลเซนส์ วันนี้กำลังรวบรวมความพร้อมอยู่”
ขณะที่นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ หรือ SCBX กล่าวว่า เอสซีบี เอกซ์ เตรียมประกาศพันธมิตรรายที่ 2 ที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีจากประเทศจีน เพื่อให้บริการ Virtual bank จากที่ผ่านมาเซ็นสัญญาร่วมกันกับ Kakao Bank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ไปแล้วเมื่อกลางปีก่อน
ทั้งนี้มองว่าการที่มีกลุ่มทุนหลายรายสนใจเข้ามาให้บริการ Virtual Bank เป็นสิ่งที่ดี โดยจะช่วยเหลือกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน รวมถึงผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เพราะการดูการให้บริการทางการเงินปัจจุบันบนหลายไลเซนส์ ทั้งการให้บริการผ่านธนาคาร ผ่านธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ฟิโกไฟแนนซ์ ล้วนเป็นธุรกิจที่อยู่ในระบบมานาน แต่ไม่สามารถทำให้เข้าถึงทางการเงินได้