"Virtual Bank" จุดเปลี่ยนโครงสร้างการเงินไทย ดึงดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมลด

11 มี.ค. 2567 | 03:17 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2567 | 03:19 น.

"Virtual Bank" จุดเปลี่ยนโครงสร้างการเงินไทย ดึงดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมลด ระบุธนาคารและการเงินแบบเดิม ต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกรอบหนึ่ง ทั้งการยุบสาขา ลดคนเพิ่มอีกระลอกใหม่

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การให้ใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาและทำธุรกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Virtual Bank) หรือเวอร์ชวลแบงก์ จะเป็นจุดเปลี่ยนระบบโครงสร้างระบบการเงินไทยครั้งสำคัญ 

ธนาคารและการเงินแบบเดิม ต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกรอบหนึ่ง ทั้งการยุบสาขา ลดคนเพิ่มอีกระลอกใหม่ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของระบบการเงินไทยค่อนข้างสูงจะถูกกดดันให้ลดลงในระยะยาวจากการแข่งขันเพิ่มขึ้นในธุรกิจบริการทางการเงิน

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการทางการเงินก็จะมีทางเลือกมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อย ระบบการเงินจากเวอร์ชวลแบงก์บวกกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิมจะช่วยเพิ่มและเสริมให้ตลาดการเงิน ระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยจัดสรรเงินออมไปยังผู้ใช้เงินทุนที่มีประสิทธิภาพกว่า (Productive use of funds) 

ระบบการเงินและตลาดเงินที่ไม่พัฒนาและไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไม่สามารถก้าวสู่ประเทศรายได้ระดับปานกลาง ระบบการเงินและตลาดเงินที่สามารถทำหน้าที่ได้ดีและมีประสิทธิภาพ (Well-functioning Financial Markets) ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เมื่อไม่มีเงินทุน กิจกรรมการทางเศรษฐกิจจะสะดุดและหยุดชะงักได้ ธุรกิจเอกชนก็อาจสูญเสียโอกาสในการลงทุน รัฐบาลขาดแคลนเงินทุนก็ต้องชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มกำไรของธุรกิจอุตสาหกรรมธนาคารดั้งเดิมจะถดถอยลงในระยะยาว อำนาจกึ่งผูกขาดในอุตสาหกรรมธนาคารจะลดลงเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับธปท.จะเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากหรือน้อย ผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจจะถูกแบ่งปันไปยังกลุ่มธนาคารไร้สาขาเวอร์ชวลแบงก์มากขึ้น 

"Virtual Bank" จุดเปลี่ยนโครงสร้างการเงินไทย ดึงดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมลด

โดยธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลสื่อสารโทรคมนาคมจะมีบทบาทในการให้บริการทางการเงินเพิ่มขึ้น ยิ่งเปิดให้มีเวอร์ชวลแบงก์มากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มการแข่งขัน ยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการ 

จำนวนใบอนุญาตที่เหมาะสมต้องพิจารณาดูการแข่งขันที่เหมาะสมไม่นำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพเชิงระบบด้วย หากดูตัวอย่างของเวอร์ชวลแบงก์ในต่างประเทศ จะพบว่ามีทั้งที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขยายตัวปานกลางหรือไม่ประสบความสำเร็จก็มี เช่น WeBank ของจีน มีฐานลูกค้า 100 กว่าล้านคน Starling Bank, Atom Bank ของอังกฤษมีฐานลูกค้าหลายล้านคน Current Bank (Choice Financial Group) 

และ Vora Bank ของสหรัฐเมริกาสามารถระดมทุนได้ในระดับพันล้านดอลลาร์เพื่อปล่อยสินเชื่อ N26 เวอร์ชวลแบงก์ของเยอรมันสามารถให้บริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมทางการเงินให้กับฐานลูกค้า 7 ล้านคน Kakao Bank ของเกาหลีใต้มีฐานลูกค้า 17 ล้านคน บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคได้ร่วมกับสถาบันการเงินในการทำธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ 

อย่างกรณีการเป็นพันธมิตรกันระหว่าง Apple และ Goldman Sachs จะทำให้เกิดยักษ์ใหญ่ฟินเทค (Fintech Giant) เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดบริการทางการเงินของโลก บรรดาเวอร์ชวลแบงก์เกือบทั้งหมด คิดดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมต่ำกว่าสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมมากหรือบางธุรกรรมก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย และให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า อย่างบัญชีเงินฝากของ Apple ร่วมกับ Goldman Sachs สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงถึง 4.15% เนื่องจากเวอร์ชวลแบงก์เหล่านี้มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและมีช่องทางและโมเดลในการหารายได้ต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม กรณี Nubank ของบราซิลไม่คิดค่าธรรมเนียมบัตร การโอนเงินและคิดดอกเบี้ยถูกมาก

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ภายใน ปี ค.ศ. 2030 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มเป็นมากกว่า 8 พันล้านราย คิดเป็น 90% ของประชากรโลก ในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียง 5 พันล้านราย อุตสาหกรรมการเงินจะสามารถให้บริการผ่านทางดิจิทัลได้ทั่วถึงและง่ายกว่าเดิม ระบบการเงินแบบรวมศูนย์ จะขับเคลื่อนสู่ ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์มากขึ้นตามลำดับ บทบาทของ ธนาคารกลาง จะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นโยบายการเงิน นโยบายกำกับสถาบันการเงินและนโยบายระบบการชำระเงินก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามบทบาทใหม่ของธนาคารกลาง

เงินและระบบการเงินในปัจจุบันตั้งอยู่บนระบบ Fiat Money หรือ Fractional Reserve โดยในอดีตนั้น ประเทศต่างๆ มักจะกำหนดให้ค่าเงินสกุลของประเทศตัวเองให้คงที่กับโลหะมีค่าหรือสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งและพยายามรักษาค่าเงินให้คงที่ ประเทศส่วนใหญ่จะพยายามรักษาค่าเงินของตัวเองเมื่อเทียบกับโลหะทองคำ จึงเรียกว่า ระบบมาตรฐานทองคำ มาตรฐานเงินตราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ มาตรฐานโลหะ (Metallic Standard) มาตรฐานกระดาษ (Inconvertible paper standard) มาตรฐานโลหะยังแบ่งออกเป็น 4 ประเภทย่อย ได้แก่ มาตรฐานโลหะสองชนิด (Bimetallism) มาตรฐานทองคำ (Gold standard) มาตรฐานเงิน (Silver standard) มาตรฐานโลหะผสม (Symmetallism)

ระบบเบรตตันวูดส์เป็นตัวอย่างแรกของระเบียบการเงินที่มีการเจรจาอย่างสมบูรณ์โดยเจตนาเพื่อปกครองความสัมพันธ์การเงินระหว่างรัฐชาติเอกราช ลักษณะสำคัญของระบบเบรตตันวูดส์ คือ ทุกประเทศมีพันธกรณีใช้นโยบายการเงินซึ่งธำรงอัตราแลกเปลี่ยนโดยผูกเงินตราของประเทศกับทองคำและความสามารถของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมการเสียดุลการชำระเงินชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องจัดการการขาดความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆและเพื่อป้องกันการลดค่าเงินตราแข่งขันด้วย

ในการเตรียมบูรณะระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังดำเนินอยู่ ผู้แทน 730 คนจากทั้ง 44 ชาติฝ่ายสัมพันธมิตรประชุมกันที่โรงแรมเมาต์วอชิงตันในเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา หรือเรียก การประชุมเบรตตันวูดส์ ผู้แทนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวันที่ 1–22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 และลงนามความตกลงในวันสุดท้าย 

ซึ่งเป็นการจัดตั้งระบบ กฎระเบียบ สถาบันและวิธีดำเนินงานเพื่อจัดระเบียบระบบการเงินระหว่างประเทศ ผู้วางแผนที่เบรตตันวูดส์สถาปนากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารโลก องค์การเหล่านี้เริ่มปฏิบัติงานในปี 2488 หลังประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันความตกลงมากแล้ว วันที่ 15 สิงหาคม 2514 สหรัฐยุติการแปลงดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทองคำฝ่ายเดียว นำให้ระบบเบรตตันวูดส์ถึงคราวสิ้นสุดและดอลลาร์กลายเป็นเงินเฟียต (fiat currency) ขณะเดียวกัน เงินตราอัตราแลกเปลี่ยนคงที่หลายสกุล (เช่น ปอนด์สเตอร์ลิง) กลายเป็นเงินอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเสรีเช่นกัน พัฒนาการของระบบการเงินโลกนั้นเป็นระบบรวมศูนย์มาอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบธนาคารกลาง แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม

อย่างไรก็ดี ในระบบการเงินแบบเดิมที่มีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized Finance หรือ CeFi) มีเงินอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก คือ เงินที่ออกโดยรัฐ คือ Public Money หรือ Fiat Money ประเภทที่สอง เป็นเงินที่ออกโดยเอกชน หรือ Private Money ที่มาต่อยอด เช่น การสร้างเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้าง e-Money ในลักษณะต่างๆ เนื่องจากเงิน

ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นเงินเฟียต (Fiat Money) เป็นเงินตราที่อำนาจรัฐตราขึ้นให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่ได้มีโลหะมีค่าหนุนหลังเต็มจำนวน โดยที่สิ่งที่นำมาใช้เป็นเงินนั้นไม่ใช่โลหะมีค่า เช่น เงินธนบัตรก็เป็นเพียงกระดาษ การยกเลิกการผูกเงินกระดาษกับทองคำก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟียตจึงเหมือนเป็น “หนี้” ของธนาคารกลางที่ออกมาให้คนถือครองโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มีค่าเพราะเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ในระบบการเงินและธนาคารกลาง 

การยกเลิกผูกเงินไว้กับทองคำทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุม นโยบายการเงิน ได้มากกว่าเดิม หากธนาคารบริหารนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากธนาคารกลางเกิดบริหารนโยบายการเงินผิดผลาด เพิ่มปริมาณเงินด้วยนโยบาย Quantitative Easing และ พิมพ์เงินเข้ามาในระบบมาเกินไปก็อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) Cryptocurrency เกิดขึ้นและท้าทายระบบ Fiat Money อย่างชัดเจน เป็นเหมือนการดึงอำนาจการพิมพ์เงินและการควบคุมปริมาณเงินออกจากระบบธนาคารกลาง หากประชาชนหันไปใช้ Cryptocurrency มากขึ้นย่อมทำให้ความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินโดยธนาคารกลางลดลง

ธนาคารกลางนั้นจะออกแบบโครงสร้างแบบ 2 ชั้น (Two-tier System) เพื่อให้ประชาชนที่ถือ Private Money สามารถแลกกลับมาเป็น Fiat Money ได้ ทำให้ประชาชนที่ถือเงินมีความปลอดภัยและเงินที่ถือมีสภาพคล่องสูง เงินทั้งสองรูปแบบในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอกชน กับ บทบาทเงินภาครัฐที่เน้นเสถียรภาพเชิงระบบ ในระบบนี้ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ ผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort) อันเป็นกลไกค้ำประกันความมั่นคงของระบบการเงิน

พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized finance – DeFi) ขยายตัวและต้นทุนทางการเงินต่ำลง การถือสกุลเงินดิจิทัลไว้เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้บริการกู้เงินระหว่างกันผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน แนวโน้มดังกล่าวทำให้ Fiat Money อาจมีบทบาทลดลงในภาคการเงิน (Adrian & Mancini-Griffoli, 2021) หากเงินดิจิทัลไม่ว่าออกโดยเอกชนในประเทศหรือต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น และ สามารถทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) ดีขึ้น เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ดีขึ้น เป็นหน่วยในการเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) ดีขึ้น 

อาจจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง การออกเงินสกุลดิจิทัลรายย่อยของธนาคารกลาง (Retail CBDC) จะช่วยรักษาสมดุลระหว่าง Fiat Money กับ สกุลดิจิทัลทางเลือก ทำให้ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงินลดลง นอกจากนี้ในประเทศใดที่มีความเชื่อมั่นต่อระบบธนากลางและมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางย่อมทำให้อธิปไตยทางการเงินเข้มแข็งขึ้น 

อีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีเดิม Core Banking System ของระบบธนาคารพาณิชย์แบบเดิมขาดความยืดหยุ่นและขาดความเชื่อมโยงกับระบบเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ปัจจัยนี้จะทำให้ระยะยาวแล้ว ระบบ Virtual Banking จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินมากกว่าและมีค่าบริการ ต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีและ Cybersecurity ของระบบเวอร์ชัลแบงก์และการเงินดิจิทัล จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าธนาคารไร้สาขาแบบให้บริการดิจิทัลเต็มรูปแบบจะเติบโตแค่ไหนอย่างไร