Virtual Bank พลิกโฉมการเงินไทย หรือ มาแบ่งหน้าที่กัน

13 มี.ค. 2567 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 09:48 น.

จับตา 3 ทุนใหญ่ ยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank หลังกระทรวงการคลังออกประกาศเมื่อ 5 มี.ค. ธปท.เปิดไทมฺ์ไลน์การอนุมัติไลเซ่นซ์ คาดกลางปี 69 เกิดแน่ คาดไม่กระทบธนาคารดั้งเดิม เหตุเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ถูกพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า จะมีการเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตธนาคารรูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก

หลายฝ่ายมองว่า Virtual Bank จะเข้ามาปฏิวัติวงการธนาคารแบบดั้งเดิม เพราะ Virtual Bank จะมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย มานำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อนุมัติรวดเร็วขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น

ขณะที่ธนาคารดั้งเดิมแม้จะมีการพัฒนาช่องทางการบริการที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเปิดบัญชีเงินฝากดิจิทัล Mobile Banking App แต่ก็ยังควบคู่ไปกับการให้บริการผ่านสาขา และยังพึ่งพาการใช้บุคคลากรสูง ความคาดหวังต่อ Virtual Bank จึงเป็นบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการแข่งขันในตลาดการเงินเดิมด้วย เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศคือ ธนาคารดั้งเดิมลดค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชีลง 

Virtual Bank เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Bank มาตั้งแต่ต้นปี 2566 ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 กระทรวงการคลังได้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา(Virtual Bank) หลังจากได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

Time Line การยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank

เกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ผ่านการคัดเลือกที่จะได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual bank ประกอบไปด้วย 7 ด้าน คือ

  1. ประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
  2. ธรรมาภิบาล และความสามารถผู้บริหาร
  3. ความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิตัล
  4. ความปลอดภัย
  5. การเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย
  6. การบริหารความเสี่ยง
  7. การสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอ

ธปท.ออกมาระบุว่า การขออนุณาต อาจจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนและจะใช้พิจารณาอีกราว 9 เดือน ดังนั้นอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าที่ Virtual Bank จะเปิดดำเนินการได้ ทำให้อย่างเร็วที่สุดที่ Virtual bank จะให้บริการได้คือ กลางปี 69 

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ออกมาระบุทันทีว่า พร้อมเดินหน้าร่วมกับพันธมิตรทั้ง ธนาคาร กรุงไทย (KTB) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank

ด้านบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ประกาศจับมือกับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ จัดตั้งกิจการค้าร่วม (Consortium) โดย SCBX จะมีสัดส่วนถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ KakaoBank จะถือหุ้นอย่างน้อย 20% ซึ่งทั้งสองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติมอีกด้วย

กลุ่ม CP อย่าง Ascend Money  ฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Ascend Group หรือที่หลายคนรู้จักบริการ E-Wallet อย่าง True Money โดยแอเซนด์ มันนี่ยังมีพันธมิตรอย่าง Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group 

อย่างไรก็ตาม แม้เกณฑ์ที่ประกาศครั้งนี้จะไม่ได้กำหนดจำนวนผู้ผ่านการคัดเลือก ซึ่งต่างจากร่างของธปท. ก่อนหน้านี้ ที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการเพียง 3 รายเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรายใหม่ หรือที่เป็นสตาร์ตอัพ เพราะจากทุนจดทะเบียนที่ช่วงแรก ที่กำหนดให้มีไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทและในช่วงปกติไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาททำให้มองว่า การจะได้รับอนุญาตนั้นไม่ง่าย 

ดังนั้นเบื้องต้น ผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกระยะแรก น่าจะไม่เกิน 3 ราย เพื่อให้ธปท.จะได้ตรวจสอบการดำเนินงานได้อย่างละเอียด ผลกระทบกับผู้ประกอบการรายเดิม ก็คงไม่มากและไม่เร็ว

ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่ Virtualฺ Bank จะให้บริการคือ กลุ่ม SMEs และลูกค้ารายย่อยที่อาจจะมีแหล่งเงินทุนไม่เพียงพอและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนซึ่งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการธนาคารรายเดิมเองก็ อาจจะไม่ได้เน้นมากนักเช่นกัน 

หลายฝ่ายจึงจับตาดูว่า Virtual Bank  ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเข้ามาปฏิบัติหรือดัสรัปชั่นวงการธนาคารดั้งเดิม หรือ สุดท้ายก็มาแบ่งงานกันทำ ดูแลลูกค้าคนละกลุ่มเป้าหมาย  

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,974 วันที่ 14 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2567