“กรุงศรี คอนซูมเมอร์”ตั้งเป้ายอดรูดบัตรปี 67 ทะลุ 3.93 แสนล้าน

30 มี.ค. 2567 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2567 | 06:24 น.

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ วางเป้าปี 67 เติบโตทุกมิติ บัตรเครดิตใหม่พุ่ง 3.65 แสนบัตร ยอดรูดบัตรทะลุ 3.93 แสนล้านบาท จับกลุ่มลูกค้าเที่ยวญี่ปุ่น ผนึกพันธมิตรกว่า 600 สาขา รับปรับขั้นต่ำผ่อนบัตรกระทบลูกค้ากลุ่มฐานราก

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัดในฐานะตัวแทนบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 2567 กรุงศรี คอนซูมเมอร์วางเป้าหมายเติบโตทุกมิติ โดยตั้งเป้ายอดบัตรเครดิตใหม่ 3.65 แสนบัตร เติบโต 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ และวางเป้ายอดใช้จ่ายบัตรเครดิต 3.93 แสนล้านบาท เติบโต 8% ส่วนยอดสินเชื่อปล่อยใหม่จะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เติบโต 9% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.51 แสนล้านบาท โต 2%

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด

ทั้งนี้คาดว่า กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากช่วง 2 เดือนแรกปี 67 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 62,000 ล้านบาท เติบโต 10% ยอดสินเชื่อใหม่ 15,000 ล้านบาท เติบโต 8% และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท เติบโต 3% แต่ยอดการเปิดบัตรเครดิตใหม่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะจะมีการเร่งในช่วงครึ่งหลังของมากกว่า

ขณะที่สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.14% และสินเชื่ออยู่ที่ 2.5% โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์มีเครือข่ายบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดในระบบ ฉะนั้น แม้ว่าหนี้สูญจะปรับเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ซึ่งมองว่า สถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเป็นเช่นเดียวกันทั้งตลาด

นายอธิศ กล่าวยอมรับว่า การปรับอัตราผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีผลกระทบต่อลูกค้ากลุ่มฐานราก โดยพบว่า แค่เพียงเดือนเดียวก็เห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่า จะใช้เวลาประมาณครึ่งปีจึงจะเห็นผลกระทบทั้งหมด

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์”ตั้งเป้ายอดรูดบัตรปี 67 ทะลุ 3.93 แสนล้าน

“การปรับเพิ่ม 1% สำหรับวงการบัตรเครดิต ก็ถือว่าเยอะ แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งธปท.อาจจะมองว่า ตอบโจทย์ที่ต้องการดูแลประชาชน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มล่างสุดของพีระมิด ที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งการขอให้คนที่ยังไม่ฟื้น จ่ายมากขึ้นก็ถือเป็นความท้าทาย” นายอธิศ กล่าว

สำหรับปี 2567 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะดำเนินธุรกิจภายใต้ 4 เรื่องหลักคือ

  1. เร่งการเติบโตบนธุรกิจหลัก
  2. ขยายระบบนิเวศน์พันธมิตร
  3. ส่งเสริมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ โดยเน้นเจาะสินเชื่อดิจิทัล ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
  4. ความร่วมมือภายในและระดับเครือ เพื่อส่งเสคิมให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ปี 2566 พบว่า จากสัดส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในต่างประเทศ ญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของลูกค้าของเราและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดดังกล่าว บัตรเครดิตในเครือ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะบริษัทในเครือกรุงศรี หนึ่งในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) จึงเตรียมต่อยอดแคมเปญ “เรื่องญี่ปุ่น ต้องกรุงศรี” ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา 

“กรุงศรี คอนซูมเมอร์”ตั้งเป้ายอดรูดบัตรปี 67 ทะลุ 3.93 แสนล้าน

ดังนั้น ปีนี้จึงได้ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของ MUFG และพันธมิตรทั้งในญี่ปุ่นและไทยเพิ่มเติม รวมกว่า 600 แบรนด์ นำเสนอสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้บัตรที่ดียิ่งขึ้น และเสริมภาพลักษณ์ของบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะบัตรเครดิตหลักที่ลูกค้านิยมใช้จ่ายที่ญี่ปุ่น เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา แคมเปญ “เรื่องญี่ปุ่น ต้องกรุงศรี” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในปี 2566 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ที่ญี่ปุ่น 2,200  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 250% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยลูกค้าส่วนใหญ่ราว 80% เป็นกลุ่ม Gen X และ Gen Y มียอดใช้จ่ายต่อคน เฉลี่ย 32,000 บาท หรือ เติบโต 10% เทียบกับปี 2565

สำหรับหมวดใช้จ่ายสูงสุด เรียงตามยอดใช้จ่าย ได้แก่

  1.  ห้างสรรพสินค้า
  2. โรงแรม ที่พัก
  3.  สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย
  4.  เครื่องสำอาง สินค้าเบ็ดเตล็ด
  5.  สนามบินและสินค้าปลอดภาษี

ส่วนในปี 67 บริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ญี่ปุ่น 2,950 ล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน โดยซึ่งจะขับเคลื่อนด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่

  1.  ขยายความร่วมมือโดยเพิ่มจำนวนพันธมิตร เพิ่มสิทธิประโยชน์ เสริมหมวดหมู่ใหม่ ๆ ภายใต้ระบบนิเวศธุรกิจเพื่อคนรักญี่ปุ่น
  2. นำเสนอทางเลือกในการชำระเงินที่หลากหลาย อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
  3. เสริมประสบการณ์ให้หลากหลาย ครบทุกเรื่องญี่ปุ่น ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านร้านอาหาร การช้อปปิ้ง และบริการ งานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น
  4. ใช้ข้อมูลและนวัตกรรม เสริมประสิทธิภาพการตลาด

“เราคาดว่า สิทธิประโยชน์ที่ครบ จบ ทุกประสบการณ์เรื่องญี่ปุ่น และเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เป็นผู้นำธุรกิจในเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่น” นายอธิศกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,979 วันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน พ.ศ. 2567