เศรษฐกิจชะลอ ดันยอดบัตรเครดิตนอนแบงก์พุ่ง 160%

20 เม.ย. 2567 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2567 | 04:10 น.

ยอดใช้บัตรเครดิตม.ค.67 พุ่ง 91% แตะ 2.35 แสนล้านบาท นอนแบงก์โต 160% ทีทีบีชี้แนวโน้มยังโตต่อเนื่อง ม.ค.เพิ่มกว่า 30% มากกว่าตลาดรวมที่โต 6% ยอดอนุมัติบัตรใหม่ยังเพิ่ม 40% ด้านเคทีซีมุ่งกลุ่มรายได้เกิน 5 หมื่นบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เดือนมกราคม 2567 รวมทั้งสิ้น 235,243.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112,062.52 ล้านบาทหรือ 90.97% โดยเป็นยอดใช้จ่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ 151,815.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60,827.34 ล้านบาทหรือ 66.85% และยอดใช้จ่ายผ่านบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)อีก 83,428.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51,235.18 ล้านบาท หรือ 159.14%

นายจเร เจียรธนะกานนท์ ประธานกลุ่ม บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพตลาดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเป็นผลจากปัจจัยบวกของมาตรการภาษีภาครัฐ โดยคาดว่า ตลาดเติบโตประมาณ 6% 

นายจเร เจียรธนะกานนท์ ประธานกลุ่ม บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จำกัด

ขณะที่บัตรเครดิตทีทีบีเติบโตกว่า 30% ในเดือนมกราคม โดยหมวดที่มีอัตราเติบโตสูงคือ ประกัน การท่องเที่ยว ช้อปปิ้งซูเปอร์มาร์เก็ตและการตกแต่งบ้าน และยอดการอนุมัติบัตรใหม่ยังคงเติบโตในอัตราที่ดีกว่า 40%

อย่างไรก็ตาม ทีทีบีให้ความสำคัญและสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ด้านการเงิน การสร้างความเข้าใจ และบริหารหนี้อย่างยั่งยืน ผ่านแคมเปญ “พิชิตหนี้” ที่มีการวัดระดับหนี้ การรวบหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้บริโภค

"ทีทีบีไม่ต้องการเป็นเพียงธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ แต่ต้องการช่วยลูกค้าให้พิชิตหนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ตั้งต้นชีวิตที่เป็นอิสระ มั่นคงและมีกำลังใจที่ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้นำหลัก Responsible Lending (RL) มาใช้และสื่อสารต่อพนักงานทุกระดับ"นายจเรกล่าว 

 

การใช้จ่ายบัตรเครดิตของคนไทย

เช่น กระบวนการขาย ที่เน้นการให้ข้อมูลครบถ้วน ไม่เกินจริง, กระบวนการโฆษณาโดยมีส่งข้อความเตือนให้ผู้ถือบัตรให้จ่ายให้ตรงวลา และไม่สร้างหนี้เกินควร และกระบวนการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ทำให้คุณภาพพอร์ตบัตรเครดิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 1% ต้นๆ ขณะที่สัดส่วนการชำระเต็มและผ่อนชำระขั้นต่ำไม่ได้เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะปรับอัตราการชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ต่อปีในช่วงต้นปี

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาสแรกมีสัญญาณเติบโตที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ยอดใช้จ่ายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เห็นได้จากหมวดภาคการท่องเที่ยว ความงาม ประกัน ช้อปปิ้งออนไลน์ และความหลากหลากในสินค้าและบริการแต่ละประเภทสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน 

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี”

ขณะที่การผ่อนชำระบัตรเครดิตของเคทีซีช่วง 3เดือนปีนี้ มีสัญญาณเชิงบวก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังจ่ายชำระเต็มจำนวนที่สัดส่วนประมาณ 70% อีก 30% เป็นการจ่ายขั้นต่ำไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ที่สำคัญปกติเคทีซีให้ความระมัดระวังตั้งแต่คัดกรองลูกค้า ไม่สนับสนุนให้ลูกค้าถือบัตรมากเกินไป ทำให้พอร์ตบัตรเครดิตของเคทีซีมีการใช้จ่ายสม่ำเสมอ (Active) คือ ใช้จ่ายสม่ำเสมออย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และในส่วนลูกค้า Inactive เคทีซีจะส่งโปรโมชั่นไปให้ลูกค้าเป็นทางเลือกซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ก็กลับมาใช้จ่ายราว 30%

สำหรับคำขอสมัครบัตรใหม่ก็เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากลูกค้าให้การตอบรับบัตรเครดิต “ดิจิทัล การ์ด” ดีมาก ทั้งมาจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ด้วยจุดเด่นที่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย การใช้จ่ายออนไลน์ ช่วยลดความกังวลในการใช้บัตร

ในกลุ่มลูกค้าเก่านั้น กระบวนการอนุมัติจะเร็วและสามารถใช้บัตรได้ทันทีหลังอนุมัติ และกรณีลูกค้าใหม่ที่ส่งเอกสารครบถ้วนจะสามารถอนุมัติภายใน 1 วันและใช้บัตรได้ทันที โดยเคทีซีจะติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตร 30วัน ส่วนบัตรเครดิตเคที่ซีที่เป็นพลาสติกนั้นกระบวนการอนุมัติใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ขณะที่อัตราการอนุมัติโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับปกติที่ 40%

ขณะเดียวกัน เคทีซียังยึดแนวปฎิบัติ RL ในทุกเรื่องไม่ว่า การสื่อสาร โฆษณา ไม่กระตุ้นการใช้จ่ายจนเกินไป หรือแสดงเงื่อนไขอย่างตรงไปตรงมา และมีรายละเอียดครบถ้วน  แม้จะมีแนวปฎิบัติ RL แต่ไม่ได้มีผลให้แคมเปญพิเศษของบริษัทต้องหายไป โดยยังคงสื่อสาร และหาสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า เช่น หาพันธมิตรเสนอแคมเปญพิเศษเพื่อความคุ้มค่าของลูกค้า อาทิ หมวดร้านอาหาร หรือหมวดน้ำมัน และช่วงนี้ทำโปรโมชั่นกับหมวดโรงแรม-สายการบิน

สำหรับช่วง ช่วงไตรมาส 1-2 เคทีซียังทำแคมเปญพิเศษกับพันธมิตรต่อเนื่องและจับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อโดยเฉพาะผู้มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน เพราะเป็นกลุ่มที่ยังมีการใช้จ่ายที่ดี โดยมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ประมาณกว่า 30% และพยายามจะเพิ่มพอร์ตให้เติบโตขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งในธุรกิจบัตรเครดิตยังคงแข่งขันกันสม่ำเสมอ เพราะทุกคนยังมีฐานลูกค้าและทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมโปรโมชั่น Cash Back ยังได้รับการความนิยม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,984 วันที่ 18 - 20 เมษายน พ.ศ. 2567