แบงก์โชว์ รายได้ดอกเบี้ย3 เดือนแตะ 1.88 แสนล้าน

27 เม.ย. 2567 | 02:06 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2567 | 06:03 น.

รายได้ดอกเบี้ยแบงก์ไตรมาส 1/67 แตะ 1.88 แสนล้านบาท หนุนกำไรสุทธิโต 4.69% ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงตัว 2.50% ด้านสมาคมธนาคารไทยประกาศลดดอกเบี้ย MRR 0.25% นาน 6 เดือน ช่วยกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SMEs

ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 11 แห่ง รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวม 1.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,410.82 ล้านบาทหรือ 10.84% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.69 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิรวม 42,423.01 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.6% จาก 41,325.99 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนผลกำไรสุทธิโดยรวมของกลุ่มธนาคารทั้ง 11 แห่งมีจำนวน 63,930.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2,867.2 ล้านบาทหรือคิดเป็น 4.69% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 61,063.4 ล้านบาท

ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารส่วนใหญ่ปรับเพิ่ม ได้จากธนาคารกรุงเทพ NIM อยู่ที่ 3.06% จากเดิม 2.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ธนาคารกรุงไทย 3.3% จากเดิม 3.0% ธนาคาร กสิกรไทย 3.76% เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.47% ธนาคารไทยพาณิชย์ 3.83% จากเดิม 3.46% ธนาคาร กรุงศรีอยุธยาอยู่ที่ 4.16% จากเดิม 3.91%

 สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นำโดย

  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพิ่มขึ้น 28.81%  จาก  21,190 ล้านบาทเป็น 27,295 ล้านบาท
  • ธนาคารไทยเครดิตเพิ่มขึ้น 15.56% จาก 3,043.9 ล้านบาท เป็น  3,517.6 ล้านบาท
  • ธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้น 15.39% จาก 25,619 ล้านบาทเป็น 29,561 ล้านบาท
  • ธนาคาร กรุงเทพเพิ่มขึ้น 11.12% จาก 30,077 ล้านบาทเป็น 33,422 ล้านบาท
  • ธนาคารกสิกรไทย เพิ่มขึ้น 10.47% จาก 34,875 ล้านบาทเป็น 38,528 ล้านบาท 
  • ธนาคาร ไทยพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 9.74% จาก 28,942 ล้านบาทเป็น 31,761 ล้านบาท

แบงก์โชว์ รายได้ดอกเบี้ย3 เดือนแตะ 1.88 แสนล้าน

ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งประกอบด้วย น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย, นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์, นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยและนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เข้าหารือปรับลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 24 เมษายนได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และSME เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และมีโอกาสฟื้นตัว ปรับตัว

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

 “เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีทั้งมาตรการระยะสั้นรองรับการเปลี่ยนผ่าน และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว สอดคล้องกับมาตรการการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย”นายผยงกล่าว

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่นำร่องในการลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อตอบสนองต่อมาตรการของภาครัฐ และตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าเพื่อลดภาระทางการเงิน 

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 25 เมษายน มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 6 เดือน 

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยอาจทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี 2567 แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหลายประเด็น โดยคาดว่า รายได้อัตราดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังมีโอกาสชะลอลงต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังต้องทยอยรับรู้ต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝาก ภายใต้โครงสร้างเงินฝากในปัจจุบันที่มีสัดส่วนเงินฝากประจำเพิ่มขึ้น

ประกอบกับยังต้องติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศในระยะที่เหลือของปี ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามจะอยู่ที่แผนการระดมสภาพคล่องสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหากมีผลทำให้สภาพคล่องตึงขึ้น ก็อาจจะเห็นการทยอยออกแคมเปญเงินฝากบางประเภทเพิ่มเติมเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝาก

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ อาจได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้นหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวกลับมา โดยรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิในปี 2567 อาจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่อัตราการเติบโตจะอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากยังคงไม่มีค่าธรรมเนียมที่สามารถชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมบริการโอนเงินที่ยกเว้นไปได้

ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังสะท้อนผ่านระดับการตั้งสำรองฯและ Credit Cost ที่จะยังไม่ลดลงกลับไปเหมือนระดับในช่วงปกติ และอาจเห็นสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) สิ้นปี 2567 สูงกว่าปี 2566 โดยสินเชื่อที่มีประเด็นด้านคุณภาพหนี้ ยังเป็นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและ SMEs

อย่างไรก็ดี การจัดการปัญหา NPLs ในเชิงรุก ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยรับรู้สถานการณ์ของสินเชื่อในพอร์ตและสามารถรับมือกับปัญหา NPLs ได้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,987 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567