กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการภาษี ซึ่งในระยะสั้นจะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกและลดการใช้พลังงาน ด้วยการอนุญาตให้หักลดหย่อนการซื้อและติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์รูฟท็อป การอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เพื่อให้มีการผลิตพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แนวคิดการใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพื่อสนับสนุนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้หากจะใช้มาตรการภาษีให้เกิดบางเรื่องขึ้นและคำนวณแล้วว่า มีความคุ้มค่าก็สามารถดำเนินการได้ เพราะหากมีการลดใช้ไฟฟ้า แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มาหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เรื่องสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้โซลาร์รูฟท็อป เนื่องจากต้องการแรงจูงใจประชาชน เพื่อลดภาระการใช้ไฟฟ้า แต่แผงโซลาร์เซลล์ หรือแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งาน หากจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวจริง ก็ต้องมีการดูแลจัดการซากเหล่านั้นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย
“การทำมาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปจะต้องคิดให้รอบด้าน เช่น เราออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนไปติดโซลาร์รูฟท็อป สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ เมื่อเสร็จแล้วจะต้องขายไฟฟ้าคืนได้ด้วย เนื่องจากต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์ยังถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียด เพราะขั้นตอนอยู่ระหว่างกระทรวงพลังงานหารือกับกรมสรรพากร ว่ากระทรวงการคลังจะสามารถให้แรงจูงใจอะไรได้บ้าง” นายลวรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า โซล่าเซลล์ที่ดีที่สุดคือ การลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็น folding solar เนื่องจากการติดตั้งทำได้รวดเร็ว มีต้นทุนถูกกกว่า รวมทั้งประสิทธิภาพสูงกว่าการรับโซลาร์บนพื้น อีกทั้ง ยังได้พลังงานมากกว่าแผงปกติถึง 30% เพราะแผงในน้ำมี 2 ด้าน สามารถสะท้อนน้ำได้อีก 30% ซึ่งหากเป็นบ่อน้ำ เขื่อนในนิคมอุตสาหกรรม หากนำแผงโซลาร์ไปคลุมได้จะทำให้ระดับน้ำในบ่อระเหยช้าลง ทำให้สามารถประหยัดน้ำได้อีกด้วย
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้สั่งการให้กรมธนารักษ์ไปศึกษาการทำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำดังกล่าว สำหรับพื้นที่ที่อยู่เหนือเขื่อน ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมธนารักษ์ เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการมาลงทุนทำโซลาร์เหนือเขื่อน โดยกรมธนารักษ์น่าจะมีส่วนช่วยในการลงทุนเหล่านี้ได้
“ตามนโยบายของรัฐบาลจุดขายและจุดแข็งดึงดูดต่างประเทศ คือ เรามีพลังงานสะอาดที่เพียงพอ ฉะนั้น อุตสาหกรรมที่เป็นไฮเทค หรืออุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เช่น ยุโรป ผู้ประกอบการยอมจ่ายเม็ดเงินลงทุนที่แพงกว่าเพื่อให้ได้ไฟสะอาด น้ำสะอาดตั้งแต่ต้นทาง”
ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้อง สำหรับสนับสนุนเรื่องการเป็นมิตรต่อยิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ T-VER
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thai ESG ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG การส่งเสริมพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำด้วยการนำปริมาณการปล่อยคาร์บอนมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,999 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2567