นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่ม บริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงสูงขึ้น แม้จะมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงและเร็วและการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยพยุงค่าเงินบาท แต่ค่าขนส่งที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้ไม่แพงเหมือนตอนสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่สัญญาณราคาปรับขึ้นชัดบวกกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นภาระในการนำเข้าและส่งออก ทำให้เป็นปัจจัยฉุดค่าเงินบาท
“ถามว่าความเสี่ยงที่เงินบาทจะวิ่งไปที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ตอนนี้โอกาสยังน้อยอยู่ จนกว่าภาพจะชัดว่า เฟดลดดอกเบี้ยหรือสถานการณ์ท่องเที่ยวแย่กว่าที่คิด ค่าขนส่ง ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างกระจายตัว แต่เมื่อภาพยังไม่ชัด จึงมองเงินดอลลาร์น่าจะแข็งค่า เงินบาทน่าจะทรงๆ ทีทีบีมองค่าเงินบาทในปีนี้ไม่เกิน 38 บาทต่อดอลลาร์” นายนริศ กล่าว
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า เนื่องจากการลดดอกเบี้ยของเฟดยังไม่ชัดเจนและโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่รอการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบ 36-37 บาท/ดอลลาร์ในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้าหรือไตรมาส 3 ของปีนี้ หากไม่มีประเด็นที่เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจฟื้นช้า
“เงินบาทยังมีแนวโน้มจะอ่อนแรง เพราะรอ 2 เรื่องคือ จังหวะการลดดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่ชัดเจน และ Cycle การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อีกตัวเข้าใจว่า ช่วงนี้มีแบงก์ชาติดูแลลดความผันผวนไม่ให้แกว่งตัวรุนแรง ซึ่งแนวโน้มเงินบาทยังอ่อน แต่จะไม่ผันผวนมาก เห็นได้ว่า ณ วันนี้ เงินบาทผันผวนน้อยกว่าช่วงต้นปีที่ โดยจากต้นปีถึง 25 มิ.ย. เงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว 6.8% เป็นอันดับ 3 รองจาก เงินเยนและเงินวอน” นางสาวกาญจนา กล่าว
ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายปีนี้ที่ผ่านมา 6 เดือน (ตั้งแต่ต้นปี-25มิ.ย.67) ต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยต่อเนื่อง โดยเงินไหลออกสุทธิตลาดพันธบัตร 60,824 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิ กว่า 111,194 ล้านบาท
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Global Investment Strategy บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า การเมืองสหรัฐเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาภายในช่วงปลายปีนี้ จุดที่น่ากังวลคือ นโยบายหลักของผู้สมัครทั้ง โดนัล ทรัมป์ และ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นเรื่องภาษี อาจดึงให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอและดึงทั่วโลกลงด้วย ซึ่งสหรัฐปัจจุบันเติบโตได้ตามกระแส AI เป็นกระแสเดียว ทำให้เงินส่วนใหญ่ยังไม่ไหลออกจากสหรัฐเยอะต่อให้เฟดลดดอกเบี้ยก็ตาม
ขณะที่ความเสี่ยงฝั่งเงินตลาดทุนคือ ความต่างของดอกเบี้ยที่แนวโน้มดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าเฟด ถ้าดำเนินนโยบายการเงินไม่ระมัดระวัง อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนได้, ตลาดหุ้นปัจจุบันจะมีหุ้น AI ร้อนแรงเป็นโอกาสลงทุนสามารถไปต่อได้ แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่คนไม่ลงทุนหุ้นไทย, นอกจากหุ้น AI จะเป็นโอกาสของโลก แต่ก็เป็นความเสี่ยงพอควร หากธุรกิจ AIชะลอตัวหรือ ฟองสบู่แตกควรมีแผนรับมือ
โดยรวมช่วง 1 ปีข้างหน้า แม้เฟดลดดอกเบี้ยเงินจะไหลออกราว 1-2% ฉะนั้นปลายปียังมองเงินบาทอ่อนค่า 36 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างปีต้องระวังตลาดหุ้นสหรัฐร้อนแรง นำโดย หุ้น MVD หาก MVD ฟองสบู่แตก มีโอกาสตลาดจะปรับฐานแรง มีโอกาสเงินไหลมาเอเซียบ้าง โอกาสครึ่งปีหลัง เงินบาทคงไม่อ่อนค่ามาก นักลงทุนกระจายหุ้นทั่วโลก
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์มองค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อย โดยให้น้ำหนักสำคัญไปที่ผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนานต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า จะชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น และเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)สามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์เข้าสู่วัฎจักรขาลง
อย่างไรก็ดี ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่นจะจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงความเสี่ยงด้านสงครามการค้าในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กรุงศรีให้กรอบค่าเงินบาทช่วงปลายปีไว้ที่ 35.00-36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาทได้แก่ เงินดอลลาร์แข็งค่า สาเหตุจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดดูสวนทางกับธนาคารกลางอื่นที่เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว,ฟันด์โฟลว์ และความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในไทย จึงเห็นการขายสินทรัพย์ทั้งหุ้นและพันธบัตร
สำหรับไทยปีนี้โชคดีที่โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ (ราคาปรับขึ้น) ช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมากกว่าที่เห็น หลักๆ สกุลเงินส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์แข็งค่า ส่วนเรื่องฟันด์โฟลว์หลายประเทศในเอเซียยังมีฟันด์โฟลว์ซัพพอร์ตพอสมควร เพราะตลาดหุ้นยังดี แต่หุ้นไทยไม่เพอร์ฟอร์ม
ในแง่ค่าความผันผวนของเงินบาทบาทนั้น ระยะหลังๆ ผันผวนลดลงจากต้นปีและช่วงโควิดที่แกว่งตัวในกรอบกว้างคือ ปกติค่าเงินบาทจะแกว่งตัวราว 40สตางค์ /สัปดาห์ จากต้นปีเคยอยู่ที่ 60-70 สตางค์และผันผวน 1บาทก็มี โดยค่าเงินบาทผันผวนตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ แต่ยอมรับว่า เงินบาทอ่อนค่าไปเล็กน้อย ด้วยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิยไทย
"ทั้งปีอาจจะอ่อนค่าได้ถึง 37บาท/ดอลลาร์ หากไม่มีวิวดอลลาร์หรือการเมืองเข้ามา แต่หากหลุด 37บาท/ดอลลาร์ มองโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าได้ไม่เกิน 37.25บาท/ดอลลาร์ ซึ่งสิ่งที่เกิดในช่วงนี้คือ ภาพเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวมาก ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่กลับมาเท่าก่อนโควิด,ฟันด์โฟลว์ยังไม่กลับมา"นายพูนกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตลาดมองแนวโน้มเฟดน่าจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เฟดบอก 1ครั้ง สิ่งที่ตลาดคิดอาจจะกลับไปเป็น 1 ครั้ง ซึ่งดอลลาร์มีโอกาสอัพไซด์ สิ่งที่เรามอง ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงมา ตัวเลขการจ้างงานมีโอกาสจะแย่ลง คาดว่าจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย.
ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินดอลลาร์ระยะสั้น 1-2 เดือน คือ การเมืองในยุโรปที่จะมีการเลือกตั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสด้วย ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินปอนด์ ค่าเงินยูโร ถัดมาคือ ปัจจัยนโยบายการเงินธนาคารกลางหลักอื่นๆ จะลดดอกเบี้ยได้ต่อเนื่องหรือไม่ /เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์หรือเปล่า ตัวแปรสำคัญอีก 2จุด คือ ธนาคารกลางอังกฤษ(BOE) จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นหรือไม่ และจุดที่สองคือ ญี่ปุ่น ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่า จะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วหรือลดการทำ QE คาดว่า ในเดือนก.ค.น่าจะภาพชัดขึ้น
ทั้งนี้ หากไม่ทำไรเลย ค่าเงินเยนอ่อนค่าได้ ตอนนี้ค่าเงินเยนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน หากจะสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานค่าเงินเยนควรจะอยู่แถว 155-156 เยน/ดอลลาร์ แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเหมือนธนาคารกลางทุกที่ที่ดูความผันผวนของค่าเงินว่า เกินกรอบหรือไม่ โดยไม่ได้ดูระดับ แต่การผันผวนเงินเยนไม่ได้พรวดพลาด ซึ่งในเร็วๆนี้ BOJ อาจจะไม่แทรกแซง ส่วนตัวคำนวณค่าเงินเยน 164-165 เยน/ดอลลาร์ จึงจะเห็น BOJ เข้าแทรกแซง
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,005 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567