นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ BAM เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มการประมูลทรัพย์ของสถาบันการเงินในครึ่งหลังของปีนี้คาดว่า จะมีทรัพย์ออกประมูลใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่สถาบันการเงินนำทรัพย์ออกประมูลขายแล้วรวมประมาณ 1.18 แสนล้านบาทลดลงราว 2 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.38 แสนล้านบาท (เฉพาะหนี้มีหลักประกัน)
ทั้งนี้ ฺBAM ใช้งบลงทุนไปแล้ว 5,700 ล้านบาท คิดเป็นภาระหนี้รวม 20,300 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน ใช้งบลงทุน 7,300 ภาระหนี้รวมประมาณ 22,300 ล้านบาท
ปัจจัยที่จะมีผลต่อสถานการณ์ประมูลขายทรัพย์สินในครึ่งหลังปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) มีแนวโน้มจะตกชั้นเข้าสู่ระบบ หลังหมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบกับยังไม่เห็นสัญญาณการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโครงการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งโอกาสที่เงินจะไหลสู่ระบบเศรษฐกิจหรือภาคเอกชนรับไม้ต่อในการลงทุนก็น้อย
ดังจะเห็นได้จากมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อทิศทางเศรษฐกิจและดอกเบี้ยนโยบายที่ส่วนใหญ่ สะท้อนมุมมองการเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป ซึ่งส่วนตัวมองว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่มีผลให้การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนแบกภาระหนี้ที่ยังล้นอยู่ แม้จะทำให้มีเงินเหลือบ้าง แต่ก็ยังไม่ชำระหนี้มากขึ้นด้วย ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นและฟื้นแบบกระจุกตัว ทำให้โดยรวมปัจจัยลบจึงมีมากกว่าปัจจัยบวก
ในแง่ปัจจัยบวกเช่น ทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่า อาจส่งผลต่อการขายสินค้าไทยได้ง่ายขึ้น หรือภัยแล้งและน้ำท่วม อาจส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรดี แต่จะถูกถ่วงด้วยราคาปุ๋ยที่แพง ส่วนการท่องเที่ยว แม้จะดีก็กระจุกตัวในบางพื้นที่
สิ่งที่ห่วงคือ สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ยังขายไม่ได้ รวมทั้งคนที่เพิ่งซื้อผ่อนไม่ไหว โดยเฉพาะสถานการณ์คอนโดมิเนียม ทั้งคอนโดฯที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่ขายออกอีกจำนวนมาก หรือคอนโดฯที่แม้จะขายออกไปแล้วคนเริ่มผ่อนไม่ไหว
ที่สำคัญ กฎหมายนิติบุคคล กรณีลูกค้าค้างชำระค่าพื้นที่ส่วนกลาง เวลาขายทอดตลาดพบว่า ลูกหนี้ค้างค่าพื้นที่ส่วนกลางเยอะมาก ซึ่งเมื่อผู้ซื้อต้องการจะโอนทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่สามารถโอน เพราะค่าพื้นที่ส่วนกลางที่หักไว้ไม่เพียงพอ คือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) จะคิดให้เพียง 5 ปี ผู้ซื้อต้องจ่ายเพิ่ม จึงจะออกใบปลอดภาระให้ ดังนั้นในแง่การประมูลซื้อคอนโดฯ ก็ต้องใช้วงเงินต่ำ เพราะไม่ทราบว่า มียอดค้างชำระค่าพื้นที่ส่วนกลาง
อีกทั้งส่วนหนึ่งเป็นคอนโดหรือทรัพย์สินที่สถาบันการเงิน เจ้าหนี้นำออกประมูลขาย เนื่องจากลูกหนี้ไม่ได้พักอาศัยในคอนโดนั้นแล้ว ซึ่งบางแห่งมีค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ทั้งค่าพื้นที่ส่วนกลาง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ดังนั้นนอกจากหนี้เหล่านี้เป็นปัญหาในการขายทอดตลาด ตอนนี้การปล่อยกู้คอนโดฯค่อนข้างหนืดมาก โดยพื้นที่ที่มีประเด็นคือ ภาคตะวันออกชลบุรี พัทยา ระยอง โดยเฉพาะคอนโดราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทน่าเป็นห่วง
“ปีนี้ราคาการประมูลถูกลง ขึ้นอยู่กับคุณภาพทรัพย์ ประเภททรัพย์ ซึ่งเป็นคอร์ปอเรตมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหญ่ และครึ่งปีหลัง BAM จะดูทั้งคุณภาพหนี้และราคา ขณะเดียวกันจะเลือกเฟ้นทรัพย์สินด้วย เพราะทรัพย์สินที่ประมูลซื้อมาก่อนหน้าเป็นรายเล็ก ทำให้การบริหารจัดการช้าหรือมีความหนืด โดยหลังจากนี้จะเน้นประมูลซื้อหนี้คอร์ปอเรตมากขึ้น เพราะหนี้กลุ่มนี้เริ่มลดลง เนื่องจากปีก่อนได้ประมูลหนี้รายย่อยจากธอส.”นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับปีนี้ BAM มีงบลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาทน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะเลือกเฟ้นซื้อทรัพย์สินที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงได้และเน้นความคุ้มค่า โดยพิจารณาประมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มากกว่าสินทรัพย์รอการขาย (NPAs) ซึ่งนโยบายปัจจุบันจะไม่ซื้อ NPAs กลับมา แต่จะเน้นขายเป็นรายได้
อย่างไรก็ตาม จากมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสธุรกิจบริหารหนี้ เห็นได้จากบริษัทบริหารจัดการทรัพย์สินหรือบริษัทติดตามทวงถามหนี้จดทะเบียนเกิดใหม่จำนวนมาก แต่ละบริษัทจะมีกลยุทธ์ของตัวเอง แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินจะจัดพอร์ตหนี้ออกประมูลขายไซด์เล็กๆทำให้ได้ราคาสูงและเป็นโอกาสบริษัทขนาดเล็กในการเข้าสู่ตลาดเช่นกัน แต่ในทางปฎิบัติบริษัทที่เปิดดำเนินการอย่างจริงจังไม่น่าจะเกิน 10 ราย
ทั้งนี้ ภายใต้แผนระยะกลาง BAM จะเติบโตพร้อมกันใน 2 ธุรกิจ ทั้งธุรกิจบริหารจัดการหนี้/สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) และธุรกิจบริหารจัดการหนี้หรือสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) ซึ่ง BAM ได้ทำโครงการนำร่องไปแล้ว และไตรมาส 3 ขนาดจะใหญ่ขึ้น ถ้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบกิจการร่วมทุน (JV AMC)กับธนาคาร ออมสิน ภายใต้บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC ได้รับอนุญาตจากธปท. ARI-AMC จะเริ่มติดตามหนี้คลีนโลน ซึ่งมีจำนวนรายมาก (เฉพาะเฟสแรกรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน 5 แสนบัญชีมูลหนี้ 4.5หมื่นล้านบาท) จะทำให้ BAM มีประสบการณ์และต่อยอดได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เฟสแรก BAM เปิดให้บริการให้บริการ “ BAM Choice” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน AMC ครบวงจร เริ่มเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนสมัครสมาชิก สามารถตรวจสอบยอดภาระหนี้คงเหลือ ชำระหนี้ออนไลน์ ดูใบเสร็จรับเงิน และมีระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนดชำระ รวมถึงลูกค้าที่สนใจซื้อทรัพย์สามารถดูรายการทรัพย์
ในเฟส2 ลูกหนี้สามารถปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ได้ผ่าน BAM Choice Application รวมถึงการจัดทำ E-KYC เพื่อจองซื้อทรัพย์ NPA แบบผ่อนชำระสามารถดูยอดคงเหลือผ่อนชำระ และใบเสร็จรับเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งบริการแบบครบวงจรจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปี 2567
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงการสื่อสารผ่านบริการ Hello Letter ให้ลูกหนี้สแกน QR Code (จากเดิมเป็นจดหมาย)เพื่อตรวจสอบยอดหนี้ที่ต้องจ่ายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพบกับเจ้าหน้า ซึ่งเปิดบริการมา 2เดือนผลตอบรัฐดีแต่จะปรับปรุงใหม่ให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
“การบริหารจัดการพอร์ตลูกหนี้ Clean Loan นั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ BAM บริหารจัดการเอง และกลุ่มที่ว่าจ้างให้บริษัทภายนอกหรือบริษัท ติดตามทวงถามหนี้ (Outsource Agent :OA) โดยเริ่มจาก-พอร์ตเล็ก วิธีการพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างนั้นจะต้องถูกกว่า BAM ทำเอง เพื่อต้นทุนที่ถูกลง และให้ OA ไปทำอย่างอื่น”นายบัณทิตกล่าวทิ้งท้าย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,010 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567