วันนี้ (วันที่ 15 กันยายน 2567) พรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า Digital Wallet ไปต่อ กระตุ้นเศรษฐกิจ จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ฉายภาพความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย รัฐบาลจึงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน ผ่าน 10 นโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลางและระยะยาว 3 ด้าน
ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) คือหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและระบบ E-Government
ปรัชญาแรกเริ่มของนโยบายนี้ คือความตั้งใจเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทยต่อสู้กับความยากจนในสภาวะที่รายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นนโยบายรากฐานสำคัญต่อยอดกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นนโยบายที่ ‘รับไม้ต่อ’จากรัฐบาลที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ถูกปรับเปลี่ยนและปรับปรุงรายละเอียดให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับสถานการณ์ รับฟังความเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด และเป็นหัวใจของการทำให้นโยบายประสบความสำเร็จตามแบบดีเอ็นเอของพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ ดิจิทัลวอลเล็ตยังดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
ดังนั้น ดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่อาศัยประชาชนเป็นตัวกลางในการจับจ่าย เกิดการหมุนรอบและสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก ได้แก่
เมื่อประชาชนซื้อสินค้าในร้านค้า เกิดธุรกรรมหมื่นล้านครั้งในรอบแรก เม็ดเงินจะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และจะกระจายตัวในทุกๆ ชุมชน เกิดพายุหมุนลูกแรกทั่วประเทศพร้อมๆ กัน
การวางเงื่อนไขให้ร้านค้ายังไม่สามารถขึ้นเงินได้ทันที ต้องนำไปใช้อีก 1 รอบ เพื่อสร้างพายุหมุนขนาดใหญ่อีก 1 ครั้ง กระแทกเข้าไปในระบบเศรษฐกิจระหว่างร้านค้ากับร้านค้า สามารถใช้ได้กับทุกร้านค้าทั่วประเทศ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ สามารถใช้ข้ามจังหวัดข้ามภาคได้
เพราะเมื่อประชาชนเดินเข้าไปซื้อของในร้านค้า เกิดการผลิต เกิดการจ้างงาน รายได้ของแรงงานที่เกิดขึ้น จะนำกลับไปซื้อสินค้าอีกครั้งในระบบเศรษฐกิจอีก 1 รอบ เกิดพายุหมุนรอบที่ 3 เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และจะเกิดเช่นนี้หลายรอบ
ดิจิทัลวอลเล็ต คือการกระจายเงินผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับสู่ซูเปอร์แอปพลิเคชัน ที่สามารถต่อยอดไปสู่ระบบ E-Government ได้ในอนาคต
ดิจิทัลวอลเล็ตคือนโยบายในการวางรากฐาน เชื่อมโยงไปสู่การแก้ไขปัญหารอบด้านอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มต้นจากการเติมเงินเข้าระบบ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาโครงสร้างธุรกรรมดิจิทัล นำไปสู่การสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชน และช่วยแก้ไขหนี้ครัวเรือนที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ไปพร้อมกับสร้างโอกาสให้คนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศต่อไป
จากการรับฟังความคิดเห็น นำมาปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่น และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้ รัฐบาลพร้อมเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตให้เป็นนโยบายที่สร้างโอกาสใหม่ เพื่อคนไทยที่เข้าเกณฑ์ 50 ล้านคน ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก จำนวนกว่า 14 ล้านคนก่อน ใช้งบประมาณปี 2568 จ่ายเป็นเงินสด 10,000 บาท โอนเข้าบัญชีที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถนำไปใช้ที่ใดก็ได้ ไม่จำกัดร้านค้าและชนิดสินค้า คาดว่าสามารถแจกเงินได้ทันทีภายในเดือนกันยายน 2567 นี้
ส่วนคนไทยที่ได้ลงทะเบียนในระบบผ่านแอปฯทางรัฐ เตรียมรับเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังเดือนกันยายน ใช้งบประมาณปี 2568 จ่ายเงินจำนวน 5,000 บาทก่อน โดยอาจจ่ายเป็นเงินสดหรือเงินดิจิทัลหากรัฐบาลวางระบบดิจิทัลเรียบร้อย ส่วนที่เหลืออีก 5,000 บาท จ่ายภายในปี 2568 ซึ่งตั้งใจจ่ายเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายเร่งด่วนชุดแรก จุดเริ่มต้นให้คนไทย ‘มีกินมีใช้’ ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทยขึ้นมาใหม่อีกครั้ง