การแข่งขันในวงการการเงินไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่น่าตื่นเต้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดทางให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank อย่างเป็นทางการ ปรากฏการณ์นี้ได้จุดประกายให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการฟินเทค ต่างพากันเข้าร่วมชิงชัยในสนามแข่งขันนี้อย่างคึกคักถึง 5 กลุ่ม
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเหตุผลเข้าเป็นพันธมิตรกับ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL , บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS , Sea Group และเครือสหพัฒน์ ว่า เนื่องจาก Sea Group มีประสบการณ์การให้บริการ เวอร์ชวลแบงก์ ในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิรซ์ที่ให้บริการภายใต้ชื่อ “ช้อปปี้” ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจขนส่งกับไปรษณีย์ไทย เช่นเดียวกัน
นั้นจึงเป็นที่มาที่ ไปรษณีย์ไทย ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรเพราะ ไปรษณีย์ไทย มีความแข็งกันด้านโครงข่ายที่ให้บริการทั่วประเทศ มีฐานลูกค้าที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และ ไม่สามารถเข้าถึงทางการเงิน สามารถเข้ามาใช้บริการทางการเงินที่ศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศได้
ไปรษณีย์ไทยได้พัฒนาเครือข่ายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีจุดให้บริการรวมกว่า 4,987 แห่ง ประกอบด้วยที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,284 แห่ง ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต 3,236 แห่ง เคาน์เตอร์บริการ 286 แห่ง และร้านไปรษณีย์ไทย 181 แห่ง
1. กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ให้บริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศ บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศ และบริการไปรษณีย์โลจิสติกส์
2. กลุ่มบริการไปรษณีย์ภัณฑ์ ครอบคลุมบริการจดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ และบริการพิเศษต่างๆ
3. กลุ่มบริการระหว่างประเทศ ให้บริการส่งจดหมาย พัสดุ และบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ รวมถึงบริการธนาณัติ Western Union
4. กลุ่มธุรกิจการเงิน มีบริการธนาณัติทั้งในประเทศและออนไลน์ บริการ Pay@Post และบริการตัวแทน Agency Banking
5. กลุ่มธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายตราไปรษณียากรเพื่อการสะสม สิ่งสะสม และสินค้าไปรษณีย์
6. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น การให้เช่าสถานที่และอุปกรณ์ รวมถึงธุรกิจ e-Commerce ผ่าน ThailandPost Mart
ด้าน ผลประกอบการในปี 2566 รายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40% โดยมีกำไร 78.54 ล้านบาท รายได้หลักมาจากธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 19.35%
สัดส่วนรายได้ไปรษณีย์ไทย
กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 45.56% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33.85% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.43% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96% และรายได้อื่น ๆ 1.30% และในปี 2567 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.12% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 32.48% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.98% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 5.10% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.90%
“เรื่องเวอร์ชวลแบงก์ ได้มีการเจรจากันมานานและในที่สุดสรุปเข้าเป็นพันธมิตรกับ Sea Group เพราะ คุ้มค่า และ คุ้มทุนอย่างแน่นนอน การมีเวอร์ชวลแบงก์ ไปรษณีย์ไทย ได้ประโยชน์สูงสุดเนื่อจากมีเครือข่ายทั่วประเทศและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน” ซีอีโอ ไปรษณีย์ กล่าว
ต้องจับตาดูว่าหาก ซี กรุ๊ป ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมและบริการที่หลากหลาย ของไปรษณีย์ไทย จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล ทั้งด้านการสื่อสาร การขนส่ง และการทำธุรกรรมทางการเงินได้หรือไม่.