SCBX เผยยุทธศาสตร์ลงทุน “อาเซียน” จ่อดึง Virtual Bank แสวงหาโอกาส

07 ต.ค. 2567 | 09:35 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 13:08 น.

SCBX เผยยุทธศาสตร์ลงทุน “อาเซียน” เน้นเจาะกลุ่ม “Underbanked-Unbanked-Small SME” จ่อดึง Virtual Bank แสวงหาโอกาส

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวเรื่อง “Financial opportunities & future” ในงานสัมนา “ASEAN Economic Outlook 2025 : The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity”  จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ข้อมูลจากทาง EIC สำนักวิจัยเศรษฐกิจของ SCBX มองตัวเลขจากนี้ไปถึงปี 2030 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนอยู่ที่ 4.7% ซึ่งคิดว่าอาเซียนเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจ หรือเขตที่มีการเติบโตสูง ต้นๆ ของโลก 

 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

 

ขณะเดียวกัน ในเชิงยุทธศาสตร์ที่ SCBX มองนั้น ไม่ได้โฟกัสไปเรื่องแบงก์กิ้ง หรือลักษณะไฟแนนซ์เชียล เนื่องจากส่วนนี้ จะมีเจ้าถิ่นที่ยึดครองพื้นที่ที่แข็งแรง เช่น กลุ่มที่ยึดครองเรื่องแบงก์กิ้ง ซึ่งเป็นระดับของรายได้สูงระดับหนึ่ง ส่วนกลุ่มผู้ที่ได้รับบริการแต่ไม่ครอบคลุม (Underbanked) กลุ่มผู้ที่ไม่เคยได้รับบริการ (Unbanked) หรือกลุ่ม Small SME ในทุกประเทศจะให้น้ำหนักประชากรส่วนนี้ค่อนข้างน้อย SCBX จึงมองโอกาสดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าทำไมไม่ปักหลักในประเทศไทย  ทุกท่านคงทราบดีว่าประเทศไทยเอง ถึงแม้จะพูดว่าอาเซียนน่าจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์ อยู่ในช่วงที่กำลังจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าตกลงประเทศไทยจะยังมีบทบาท และได้รับประโยชน์จากโอกาสที่พูดถึงมากน้อยแค่ไหน ส่วนนี้เป็นคำถามใหญ่ 

 

“เราเห็นช่วงโควิด ว่าการสูญเสียโอกาสการแข่งขันที่อยู่ในกลุ่มเรียลเซ็กเตอร์ ช่วงเวลานั้นรายได้ของประเทศหายไปเป็นอย่างมาก และเมื่อออกมาจากโควิด ครัวเรือน ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ออกมาด้วยภาระหนี้ที่สูงมาก เป็นตัวหน่วงเศรษฐกิจไทยในอนาคตข้างหน้า หากยังไม่มีการปรับปรุง ให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่เรามองหาโอกาสในการเติบโตนอกประเทศไทย”

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ SCBX มองโอกาสประเทศในอาเซียน และนอกอาเซียน เป็น 3 เทียร์ ได้แก่ เทียร์แรก ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย, เทียร์สอง ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงบทบาทที่ได้รับการซัพพอร์ตจากสหรัฐอเมริกา และเทียร์สุดท้าย เป็นการลงทุนในเกาหลี หรือสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อนำมาสร้างธุรกิจในอาเซียน

 

สำหรับแนวทางที่ SCBX กำลังทำขณะนี้ การลงทุนที่มองในประเทศเป้าหมาย เป็นการลงทุนใน start up และ fintech ที่ไดเรกเตอร์ของ Underbanked, Unbanked, หรือกลุ่ม Small SME รูปแบบการลงทุนเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนที่จะใช้เม็ดเงินมาก หรือการสร้างที่จะเข้าไปแข่งขันกับเจ้าถิ่น

 

“การที่ไปมองหาพาร์ทเนอร์ชิพในประเทศเหล่านี้ แล้วเอาความสามารถเรื่องเทคโนโลยีไปทำงานร่วมกับบริษัทที่เข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์ โดยใช้เรื่องต้นทุน จะเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขัน และกลับเข้าไปในตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่อยากให้เอาภาพประเทศไทยไปเทียบ ตอนนี้ประเทศไทยกู้บ้าน กู้รถไม่ได้ เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโตช้า เจอโอกาสเรื่องการปล่อยสินเชื่อไป แล้วกลายเป็นหนี้เสียเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงของภาคอุตสาหกรรมการเงิน”

 

สำหรับประเทศที่กำลังเติบโต เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย การเข้าไปในของ Underbanked, Unbanked, หรือกลุ่ม Small SME  เรื่องที่น่าเป็นห่วงเรื่องเครดิตจะน้อยกว่า ซึ่งตรงนี้มองเป็นโอกาส และเริ่มเข้าไปแล้วในประเทศดังกล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การขยายตัวไปยังต่างประเทศมักจะถูกรับน้อง จากเงื่อนไขที่ซับซ้อนจากในประเทศนั้น ซึ่งมักจะไม่อำนวยผู้เล่นจากต่างชาติ หรือผู้เล่นที่จะเข้าไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมขององค์กร ให้สามารถเข้าไปแข่งขันได้

 

ทั้งนี้ ยุทธศาตร์ของ SCBX นั้น คงจะใช้โอกาสที่จะสร้าง Virtual Bank ร่วมกับคาเคาแบงก์ (KakaoBank) และวีแบงก์ (WeBank) ซึ่งจะทำงานร่วมกับบริษัทในการนำ Virtual Bank เข้ามามาแสวงหาโอกาสในภูมิภาคนี้ นอกเหนือจากประเทศไทย โดยการสร้าง Virtual Bank ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและต้นทุน ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ ในเวทีนอกประเทศไทย 

 

“สุดท้ายภาครัฐควรมีแนวความคิดส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจไทย ให้สามารถมีแรงสนับสนุน มีแต้มต่อ มีโอกาสที่จะแข็งแรงไปเก็บเกี่ยว ไขว่คว้าโอกาส ไม่ใช่ปล่อยให้ไปต่อสู้เพียงลำพัง ซึ่งยังมีอีกหลายๆ อย่างที่ภาครัฐจะเป็นกองหนุนในการสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มต่างๆ”