ออมสินเร่งเครื่องดิจิทัล สู้ Virtual Bank เปิดตัวธุรกิจ “จีเอสบี ไอที”

19 ต.ค. 2567 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 12:48 น.

ออมสินเร่งเครื่องดิจิทัล สู้ Virtual Bank เปิดตัวธุรกิจ “จีเอสบี ไอที” ต้นปี 68 พร้อมเปิดหน้า “เงินดีดี” ปล่อยกู้พีโลน-นาโนไฟแนนซ์ แถลงข่าวทางการต้นเดือนพ.ย.นี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การเดินหน้าของธปท. ที่จะเปิดธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น เรามองว่าวัตถุประสงค์ Virtual Bank จะทำให้คนได้ใบอนุญาตปรับตัวเร็ว เกิดการพัฒนาขึ้นมากขึ้น แต่แบงก์ไม่ตาย จะทำให้เราต้องเร่งตัวเองในการทำ ฉะนั้น เราก็จะเป็นหนึ่งในแบงก์รัฐที่เร่งปรับตัวเร็วเรื่องดิจิทัล

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ Virtual Bank ที่ดำเนินธุรกิจในโลกนี้ ส่วนมากยังไม่มีใครเคยมีกำไร ซึ่งออมสินจึงไม่ได้ตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจนี้ แต่จะปรับตัวไปสู่ดิจิทัลแทน และเรามองว่า Virtual Bank จะเป็นโอกาสสำหรับคนยังไม่มีใบอนุญาตแบงก์ เช่น กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่อยากได้ใบอนุญาตทำธุรกิจแบงก์ แต่ยังไม่ได้ ส่วนผู้ที่มีใบอนุญาตแบงก์อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับตัดสินใจยังไง

ขณะเดียวกัน ออมสินได้ยกระดับดิจิทัล ในเรื่องไอที โดยเปิดตัวธุรกิจ บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ สาเหตุที่เราจัดตั้งบริษัทไอทีขึ้นมา เพื่อลดข้อครหาว่า หลบการจัดซื้อภาครัฐมาอยู่บริษัทลูก ซึ่งบริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จะเป็นที่ปรึกษาให้กับออมสิน และจะทำเรื่องเอไอ ดิจิทัล และโมบายแบงกิ้งเป็นหลัก จะทำให้ขีดความสามารถของธนาคารพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มเห็นผลในปี 2568

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ จะมีการแถลงข่าวเปิดตัว บริษัท เงินดีดี จำกัด หรือ Good Money เพื่อให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น โดยขณะนี้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียบร้อยแล้ว และเราได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Good Money เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทำระบบให้เสถียร แล้วจะเปิดให้บริการต้นปี 2568

“ธปท. ให้ใบอนุญาตเป็นน็อนแบงก์ได้ สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยได้สูงถึง 25% แต่เราอาจจะปล่อยดอกเบี้ยที่ 22-25% ตามกลุ่มความเสี่ยง และเรายังได้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยสูงสุด 33% เราอาจจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 29-32% เป็นต้น จะเป็นการช่วยเหลือลูกค้าที่มีความเสี่ยง ไม่สามารถขอสินเชื่อจากออมสินได้ ดีกว่าเขาไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ”

สำหรับออมสินเริ่มต้นธุรกิจ จากการไปเริ่มลงทุนในธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ที่อัตราดอกเบี้ยในตลาด 28% เรากดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 16-18% ปล่อยกู้ช่วยประชาชนกว่า 2 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันได้สิ้นสุดการดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยกลับมาที่อัตรา 25% เราพร้อมจะกลับเข้าสู่ตลาดใหม่

ต่อมาออมสิน ได้เดินหน้าธุรกิจ บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เข้าไปขยายการเข้าถึงสินเชื่อเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อที่ดิน และขายฝาก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 7-9% จากดอกเบี้ยตลาดสินเชื่อที่ดิน อยู่ระดับ 13-15% และสินเชื่อขายฝาก 30%  และล่าสุด ที่ออมสินได้เปิดตัวบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (Air AMC) โดยโอนหนี้เสียของธนาคารไปรอบแรก 10,000 ล้านบาท คาดจะโอนได้อีกต้นปีหน้า 35,000 ล้านบาท ดูแลลูกหนี้กว่า 4 แสนบัญชี

“เราเป็นแบงก์เทียบเคียงแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินทรัพย์ สินเชื่อ เงินฝาก และกำไร อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะเป็นแบงก์รัฐ เรามีขอบเขตภายใต้พ.ร.บ. บางอย่างเราทำไม่ได้ เราจึงกลายเป็นแบงก์รัฐแบงก์เดียวที่ตอนนี้บริหารงานเป็นกลุ่มธุรกิจ และตอนนี้มองว่า 4 ธุรกิจลูกของธนาคารเพียงพอแล้ว”