นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 11,107.31 ลดลง 87.84 ล้านบาทหรือ 0.78% เมื่อเทียบไตรมาส 2/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 11,195.15 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 184.1% เพิ่มขึ้นจาก 181.3% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการบริหารจัดการ Portfolio รักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน แม้มีการชำระคืนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนรายได้จากการดำเนินงานขยายตัวเล็กน้อย 2.8% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 42.4%
ทั้งนี้เป็นผลจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายจากการขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่ทั่วถึง ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 98,301 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากสิ้นปี 2566 มี NPLs Ratio ที่มี 3.14%
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 825.14 ล้านบาทหรือ 8.02% จากกำไรสุทธฺ 10,282.17 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวัง บริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลและมีคุณภาพ ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว 4.3%
ขณะที่ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Cost to Income ratio เท่ากับ 42.4% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม
เมื่อรวมงวด 9 เดือนปี 2567 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 33,380.91 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.43% จากที่มีกำไร 30,504.96 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน บริหารจัดการ Portfolio อย่างสมดุลและมีคุณภาพ กอปรกับการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
รวมทั้งจากหนี้สูญรับคืน ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานขยายตัว 9.9% มุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับ 42.5% ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างระมัดระวัง
"ธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสม และยังตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ"
นายผยงกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567ว่า มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดภาระค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้ให้กับภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ดีภาคการผลิตและภาคการส่งออกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ส่วนใหญ่ยังคงเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงทำให้ฟื้นตัวได้ช้า
ส่วนภาคครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่กระทบในบางพื้นที่