จับตาดอกเบี้ยขาลง กดกำไรแบงก์โต 2%ปีหน้า

26 ต.ค. 2567 | 04:06 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 04:06 น.

ตลาดจับตา แบงก์ทยอยลดดอกเบี้ยเงินฝาก หลังเดินหน้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามกนง. เอื้อลูกหนี้รายใหญ่-SMEs ส่วนรายย่อยทั่วไปแทบไม่รับประโยชน์ ทั้งเช่าซื้อ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล คาดกำไรแบงก์ปีหน้าโต 2%

ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ สะท้อนการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินสู่ตลาดหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 2.50% ลงมาที่ 2.25%ต่อปี เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เก่าดีขึ้นบ้าง และเพื่อให้กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีพีพีเกิดขึ้นได้ โดยเฝ้าติดตามการก่อหนี้ใหม่ 

จับตาดอกเบี้ยขาลง กดกำไรแบงก์โต 2%ปีหน้า

“ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี: MRR โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8.0333% ต่อปี (ณ 3 พ.ค.2567) โดยใน 6 ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(D-SIBs) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลงแล้ว ส่งผลให้ดอกเบี้ย MRR ธนาคาร กรุงเทพอยู่ที่ 7.05%  กรุงไทย 7.57% กสิกรไทย 7.30% ไทยพาณิชย์ 7.30% กรุงศรีอยุธยา 7.40% ทีทีบี 7.83%

ที่เหลือได้แก่ ไทยเครดิต อยู่ที่ 10.15%  ซีไอเอ็มบีไทย 9.25% แลนด์แอนด์เฮ้าส์แบงก์ 8.80% เกียรตินาคินภัทร 8.20% และ ทิสโก้ 8.15% 

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด(มหาชน)หรือ Pi เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผลจากการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของกนง.สู่ระบบ ทำให้ลูกหนี้ได้รับผลประโยชน์บางส่วน เพราะปรับลดในอัตราที่น้อยมากแค่  0.05-0.25%

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด(มหาชน)

ดังนั้น ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่จะได้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน แต่กลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือรถยนต์รายเก่า แทบจะไม่มีผล ยกเว้นซื้อรถใหม่ ส่วนลูกหนี้ธุรกิจและSMEs จะได้ประโยชน์มากกว่ารายย่อย 

สำหรับผลกระทบธุรกิจธนาคาร คาดการณ์กำไรสุทธิปีหน้าจะเติบโต 2% จากสิ้นปีนี้อยู่ที่ 5% โดยไตรมาส4 จะเริ่มเห็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของกลุ่มธนาคารจะเป็นขาลง ส่วนจะลดลงแค่ไหนขึ้นอยู่กับผลการประชุมกนง.ในครั้งสุดท้ายของปี2567 

"หากสถานการณ์ในสหรัฐไม่มีพลิกผัน เศรษฐกิจสหรัฐ Soft Landing การค้าปกติ การปรับลดดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คงไม่มาก"

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยลง อาจทำให้แบงก์เสียประโยชน์ในช่วงสั้นราว 2ไตรมาส หากดอกเบี้ยลดลงในปีหน้า แบงก์จะกลับมาทำตลาดสินเชื่อมากขึ้นประมาณไตรมาส 2 อีกทั้งถ้าแบงก์สามารถคุมหนี้เสีย(NPL) และผ่อนการตั้งสำรองได้ลดลง Margin ของกลุ่มแบงก์อาจจะลดไม่มากคือ จะไปถึงจุดต่ำสุดไตรมาส 2-3

ขณะเดียวกันแบงก์น่าจะแก้เกมด้วยการโยกเงินไปตลาดทุน เพื่อบริหารพอร์ตมากขึ้น และสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม 

นายธนเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารส่วนใหญ่ประกาศปรับลดดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วประมาณ 0.05-0.25% ขึ้นกับประเภทของลูกค้า ซึ่งแต่ละค่ายจะลดดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ส่วนต้นทุนประมาณ 30-40%มาจากเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งยังเป็นต้นทุนของธนาคาร คาดว่าแต่ละธนาคารอยู่ระหว่างประเมินสภาพคล้องก่อนจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก

“มีเพียงธนาคารกรุงเทพที่นำร่องลดดอกเบี้ยเงินฝากลงเล็กน้อย เนื่องจากจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่า ดังนั้นคาดว่า จะเห็นธนาคารอื่นจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นสเต็ปต่อไป” 

สอดคล้องกับนายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)กล่าวว่า เท่าที่เห็นธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เท่ากัน โดย MLR ปรับลดลงประมาณ 0.12% ขณะที่ MOR กับ MRR ปรับลดลงประมาณ 0.25%

จับตาดอกเบี้ยขาลง กดกำไรแบงก์โต 2%ปีหน้า

ขณะที่ภาพรวมยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง ซึ่งผลจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะกระทบกำไรของธนาคารบางส่วน และเป็นการช่วยฝั่งลูกหนี้ได้ แม้ไม่มากก็บรรเทาภาระดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ที่ต้องจ่าย  

“ผลบวกต่อกลุ่มแบงก์ขึ้นกับสัดส่วนของดอกเบี้ยอ้างอิงไม่ว่า MLR, MOR, MRR ที่ปรับลดลงแตกต่างกัน ซึ่งต้องดูพอร์ตแต่ละค่ายว่า อิงกับดอกเบี้ยประเภทไหน และสินเชื่อรูปแบบไหน ส่วนตัวไม่คิดว่า จะช่วยให้ปริมาณสินเชื่อที่จะปล่อยใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะแบงก์เองยังให้ความสำคัญในความเข้มงวดต่อการพิจารณาความเสี่ยงของลูกหนี้”

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)กล่าวว่า นักลงทุนอาจกังวลผลกระทบเชิงลบหลังธนาคารประกาศปรับลดดอกเบี้ยลง แต่บล.หยวนต้ามองว่า การปรับลดดอกเบี้ย 0.25%ต่อปี จะกระทบภาพรวมของกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารทั้งปีเฉลี่ย 2% ซึ่งไม่มาก อาจจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงบ้าง

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)

เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลงเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เช่นเดียวช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยผ่อนคลายจะทำให้การควบคุม NPL ดีขึ้นและทำให้ภาระในการตั้งสำรองลดลง เหล่านี้อาจจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง

ส่วนโจทย์ท้าทายนั้น ส่วนตัวห่วงภาพใหญ่ หากมีประเด็นทางเศรษฐกิจหรือประเด็นทางการเมืองเข้ามารบกวนอาจทำให้กดดันธนาคารทั้งในแง่ของการควบคุม NPL หรือการกันสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่ออาจช้าลง ซึ่งหากไม่มีโจทย์เหล่านี้ เมื่อดอกเบี้ยขาลงสินเชื่ออาจจะกลับมาขยายตัวได้ อีกทั้งกลุ่มธนาคารสามารถจ่ายปันผลได้ดี

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,039 วันที่ 27 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567