หลังที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานลงมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานบอร์ดธปท.
นายสถิตย์เดินทางมางาน ECONMASS TALK EP.1 พูดคุยประเด็นร้อน หัวข้อ “เก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสำคัญไฉน” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยนายสถิตย์ ยอมรับว่า ประธานบอร์ดธปท.เป็นตามข่าว แต่ยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะขั้นตอนการสรรหาถือว่ายังไม่จบ ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
"หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ลงคะแนนคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการได้ส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า จะได้รับหนังสือในวันที่ 19 พ.ย.นี้"
สำหรับขั้นตอนหลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอรายชื่อประธานบอร์ดธปท.ให้ครม.อนุมัติและเข้าสู่ขั้นตอนทูลเกล้าแต่งตั้งเป็นอันดับต่อไป ส่วนการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒินั้น เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า จะเสนอรายชื่อเข้าครม.หรือไม่ ซึ่งรมว.คลัง มีอำนาจในการลงนามแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเองได้
นายสถิตย์กล่าวว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. มี 2 ประการ
“ข้อแรกผู้ถูกคักเลือก คุณสมบัติผ่านทั้งหมด ประการเรื่องคุณสมบัติ มี 2 ข้อ คือ ความรู้ความสามารถอันเป็นประโยชน์ต่อการประกอบภารกิจของ ธปท. โดยในระเบียบขยายความว่า ความรู้ หมายถึง ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ความรู้เรื่องบัญชี และกฎหมาย รวมถึงความรู้อื่นอันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของธปท. เมื่อตกผลึกเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาแล้ว ก็นำไปสู่การคัดเลือก”
ขณะที่การคัดเลือก เป็นการลงคะแนนลับ ฝ่ายเลขานุการจะส่งเอกสาร และปากกาชุดเดียวกัน มาให้คณะกรรมการฯ เมื่อลงมติว่าจะกาว่าเลือกใคร ให้ทำเครื่องหมายกากบาท เพื่อความเข้าใจตรงกันของคณะกรรมการฯ ซึ่งได้ลงมติลับเรียบร้อย ผลออกมาอย่างที่ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจไปแสวงหาผลมา ผมขอยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผมทุกประการ
ส่วนกรณีที่นักวิชาการและอดีตผู้ว่าการ ธปท. ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วย และมีเสียงคัดค้านที่ให้ผู้ใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามานั้น นายสถิตย์กล่าวว่า ประเด็นเหล่านั้น คณะกรรมการฯ ได้หารือในที่ประชุมทั้งหมด ที่สำคัญ คือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเมื่อพิจารณาตามกรอบกฎหมายแล้ว ไม่มีลักษณะต้องห้าม
"เมื่อหลักเกณฑ์เป็นเช่นนั้น คณะกรรมการฯ ก็ต้องพิจารณา ส่วนเมื่อได้เข้าไปดำรงตำแหน่ง ประธานบอร์ด ธปท แล้ว ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของ ธปท. ต่อไป"
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ได้รับตำแหน่งเป็นตัวแทนนักการเมืองนั้น นายสถิตย์กล่าวว่า ตามกฎหมายหากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นหน้าที่นั้นไปแล้ว 1 ปี ฉะนั้น หากพ้นไป 1 ปีแล้ว ก็ถือว่าคุณสมบัติผ่าน เมื่อครบถ้วนตามนั้นแล้ว ถือว่าไม่มีอะไรเคลือบแคลง
ทั้งนี้การตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. และประธานบอร์ด ธปท. กรณีเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น แบ่งเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตำแหน่งทางการเมือง และปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่เป็นตำแหน่งส่วนตัว ไม่ใช่ตำแหน่งทางการ
"หากเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัวมิได้เป็นข้อห้าม ห้ามเฉพาะตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อล้วนมีส่วนทางการเมือง แต่ส่วนใหญ่ได้มีการลาออกเกิน 1 ปีแล้วทั้งสิ้น"
สำหรับจรรยาบรรณของประธานบอร์ด ธปท. นั้นเมื่อเข้าไปเป็นแล้ว ต้องเป็นคนใน ธปท. โดยเรื่องที่สำคัญ คือ
นายสถิตย์กล่าวว่า ประธานบอร์ด ธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณนี้ ต้องทำงานเคียงคู่กันไป เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธปท.
"ยืนยันว่า บอร์ด ธปท. แทรกแซงนโยบายการเงินสถาบันการเงินไม่ได้ และปลดผู้ว่าการ ธปท. ได้ยาก นอกจากท่านจะต้องประพฤติ ปฏิบัติเสื่อมเสีย ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก”
นายสถิตย์กล่าวยืนยันว่า ประธานบอร์ด ธปท. ไม่ได้มีอำนาจในการคัดเลือกแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเป็นอำนาจของ รมว.คลัง ที่จะต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สำหรับความเข้าใจว่า ประธานบอร์ด ธปท. เลือกผู้ว่าได้ถือเป็นความเข้าใจผิด
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของผู้ว่าการ ธปท. กับประธานบอร์ด ธปท. มี 4 คณะกรรมการ ได้แก่
“ข้อ 2-4 นั้น คณะกรรมการอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่า ธปท. ไม่ได้อยู่ภายใต้บอร์ด ธปท. ตามที่เข้าใจกัน"
ทั้งนี้ บอร์ด ธปท. มีความอิสระ แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจ ทั่วไป และ 3 คณะกรรมการดังกล่าว มีอิสระในตัวเอง ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ บอร์ด ธปท.ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้อ แต่ผู้เกี่ยวข้อง คือ รมว.คลัง กฎหมายระบุชัดเจนว่า บอร์ด ธปท. ไม่มีอำนาจอะไร
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567