วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นานาประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
รวมถึงประเทศไทยได้ลงนามพันธสัญญาต่างประเทศ วางหมุดหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ถือเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายในการปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความยั่งยืน ได้เดินหน้าออกสินเชื่อกรีนและบลู สนับสนุนผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่สีเขียวและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)เปิดเผยว่า เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับทะเลแหล่งน้ำ หรือ Blue economy ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยถึง 5 เท่าตัว
แบ่งเป็นด้านท่องเที่ยวทางทะเลถึง 44% รองลงมาเป็นเทคโนโลยีทางทะเล เช่น ระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำ และการขนส่งทางทะเล
ขณะเดียวกัน ในธุรกิจ Blue economy ทั่วโลก มีความต้องการใช้เม็ดเงิน ครอบคลุมทั้งสินเชื่อ รวมถึงการออกพันธบัตรหุ้นกู้ต่างๆ สูงถึงปีละ 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในความเป็นจริงกับมีเม็ดเงินที่เข้าไปสนับสนุนในด้าน บลูไฟแนนซ์แค่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ยังเหลือช่องว่างที่ยังเหลืออยู่กว่า 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงมีโอกาสอีกมากในความต้องการใช้เม็ดเงินในด้านธุรกิจบลูอีโคโนมีเหล่านี้
สำหรับประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับบลูอีโคโนมี คิดเป็น 30% ของจีดีพี มีการจ้างงานรวมกว่า 26% ของยอดการจ้างงานรวม โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวทางทะเล การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนการจัดการน้ำเสีย
"EXIM BANK พร้อมเข้าไปซัพพอร์ตในธุรกิจเหล่านี้ โดยในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ระดมทุนผ่านการออกกรีนบอนด์ และบลูบอลด์ รวมกว่า 1.65 หมื่นล้านบาท"
ขณะเดียวกัน ในวงเงินที่ธนาคารระดมทุนมานั้น ได้นำมาปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัวสู่กรีน ซึ่งขณะนี้ ขนาดสินเชื่อสีเขียวในพอร์ตของธนาคารมีเกือบ 7 หมื่นล้านบาท จากสินทรัพย์ทั้งหมด 1.85 แสนล้านบาท
นายรักษ์กล่าวว่า ตัวเลขสินเชื่อสีเขียวในพอร์ตของแบงก์ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 37% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า จะผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อสีเขียวเติบโตอยู่ที่สัดส่วน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ในอีก 2 ปีข้างหน้า
"ถือว่า มีความท้าทายมาก ซึ่งเราวางหมุดหมายว่า อีก 2 ปี สินทรัพย์ของแบงก์จะขยายตัวเป็น 2.5 แสนล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อสีเขียวต้องมีสัดส่วน 1.25 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อสีเขียวเติบโตตามเป้าหมาย ภายในปีนี้ ธนาคารจะออกโครงการตามนโยบายของรัฐ คือ สินเชื่อ Green Tourism หรือ สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องที่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท
ซึ่งจะถือเป็นของขวัญปีใหม่ สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่อยาก Go green หรือ Go bule ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ จะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายรักษ์กล่าวว่า สินเชื่อ Green Tourism จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มบริการ ท่องเที่ยวที่ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว ขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้รับสินเชื่อ วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 4% โดยธุรกิจที่ปรับตัว เช่น บริการรถทัวร์ หากเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า หากลดการปล่อยคาร์บอนก็จะเข้าข่ายการได้รับสินเชื่อ
ขณะเดียวกัน ในปี 2568 ธนาคารมีเป้าหมายที่จะระดมทุนกรีนบอนด์ และบลูบอนด์อีก 5,000 - 10,000 ล้านบาท รวมทั้งจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว Sustainability Linked Loan ระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
โดยมีหลักการง่ายๆ คือ เมื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กลดการปล่อยคาร์บอน ก็สามารถนำมาลดดอกเบี้ยกับธนาคารได้ เริ่มตั้งแต่ 15 สตางค์ ไปจนถึง 1 สลึง เป็นต้น
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการสร้าง KPI ร่วมกัน ระหว่างธนาคาร และลูกค้าของธนาคาร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเปลี่ยนความคิดว่าการสร้างอีโคซีสเต็ม หรือการ Go green หรือ Go blue เป็นต้นทุน ให้เปลี่ยนมาเป็นมุมมองของการลงทุน
สำหรับการดำเนินการ Sustainability Linked Loan ในระยะแรก เราเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งต้องมีเงินไปจ้างผู้ประกอบการขนาดเล็กในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ด้วย
การดำเนินการในระยะที่ 2 นี้ ธนาคารจะร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อรับรองการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่สีเขียว โดยไม่ได้คิดค่าบริการ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,049 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567