อัตราดอกเบี้ยนโยบาย“ขาลง”ยังเป็นเทรนด์ในปี 2568 โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ส่งสัญญาณ Dot Plot จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้า น้อยกว่าคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดไว้ 4 ครั้ง หลังจากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%สู่อัตรา 4.25-4.50%(ผลประชุม17-18ธ.ค.67)
ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อในเดือนก.พ.ปี 2568 หลังจากผลประชุม(18ธ.ค.) กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ “คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25%ต่อปี
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่แท้ของแต่ละประเทศล่าสุด พบว่า สหรัฐฯอยู่ที่ 1.55-1.8% ยุโรป 1.2% อังกฤษ 2.15% ญี่ปุ่น -2.05% สวิตเซอร์แลนด์ -0.2% เกาหลีใต้ 1.5% ฟิลลิปปินส์ 3.5% อินโดนีเซีย 4.45% มาเลเซีย 1.05% อินเดีย 1.02% จีน 2.90% ไต้หวัน -0.08% ออสเตรเลีย 1.55% และไทย 1.3%
“ฐานเศรษฐกิจ”รวบรวมมุมมองของกูรู เพื่อเป็นคู่มือประกอบการวางแผนการจัดสรรเงินลงทุนและเงินออมเพื่อรับมือ ความผันผวนในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกที่ขึ้นอยู่กับ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงจึงเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจ และการลงทุน โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนในสินทรัพย์ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตลาดการเงินโลกในปี 2567 ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ การลดดอกเบี้ยของ Fed การชนะการเลือกตั้งของทรัมป์ ทรัมป์เทรด
ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ประเทศอื่นล้วนยังอ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะเป็นยุโรปที่ยังอ่อนแอ จีนเริ่มจะตั้งหลักได้ แต่ยังต้องพึ่งพาการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล
ทำให้เงินดอลล่าร์ยังคงแข็งค่าต่อทุกสกุลเงิน แม้จะมีช่วงอ่อนค่าบ้าง ในช่วงที่ Fed ลดดอกเบี้ย แต่ภาพรวมยังคงแข็งค่า กระแสเงินทุนที่ไหลเข้าเอเชีย จึงไม่ยั่งยืนยาวนาน ค่าเงินดอลล่าร์ที่แข็งแกร่งยังคงกดดันค่าเงินทุกสกุลในภูมิภาค รวมไปถึงทองคำด้วย
ดังนั้น สินทรัพย์ไหนจะรอดพ้นจากแรงกดดันที่ว่านี้ จะต้องมีพลวัตรและแรงขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่แข็งแรงยิ่งกว่ามาทดแทน
นายประมูข มาลาสิทธิ์ Head ,CIO office ธนาคารกรุงไทยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงเทรนด์การลงทุนในปี 2568 ว่า “ตลาดหุ้น” จะปรับตัวขึ้นต่อ โดยตลาดหุ้นพัฒนาแล้วจะปรับตัวดีขี้นกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยตลาดพัฒนาแล้ว หุ้นสหรัฐกับหุ้นญี่ปุ่นเป็น 2ตลาดที่น่าสนใจ
ตลาดหุ้นสหรัฐปีหน้าจะปรับตัวขึ้นและขยายตัวในวงกว้างไปยังหุ้นขนาดเล็กที่จะมีผลตอบแทนโดยเดินและได้รับอานิสงก์จากนโยบายทรัมป์เทรดจากปีที่ผ่านมา 7 หุ้นนางฟ้านำ
ส่วน “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น”นอกจากราคายังไม่แพง ยังมีปัจจัยบวกจากเงินเฟ้อและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มการบริโภคของญี่ปุ่นยังแข็งแกร่ง
อีกทั้งนโยบายให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นมากขึ้น เช่น การนำเงินสดมาจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืน รวมทั้งทางการญี่ปุ่นให้สิทธินักลงทุนรายย่อยจะได้รับผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับรายที่นำเงินจากบัญชีออมทรัพย์มาซื้อหุ้น
นอกจากนี้ความน่าสนใจในตลาดเกิดใหม่ ยังมีโอกาสลงทุนใน “หุ้นอินเดีย” ด้วยปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สามารถเติบโตในอัตราสูง สาเหตุจากประชาชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น,ธนาคารกลางอินเดียมีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2ครั้งในไตรมาส1 อีกทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอินเดียมีแนวโน้มเติบโตที่ดีแม้ราคาจะดูแพง
ขณะที่ใน จีน ที่ผ่านมาประสบปัญหาอสังหาริมทรพย์ มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด จึงมีแนวโน้มที่ทางการจะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมจึงน่าจะมีอานิสงก์กับ “หุ้นจีนแผ่นดินใหญ่” และนักลงทุนรายย่อยจีนจะกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นจีนแทนการลงทุนในอสังหาหรือเงินฝากที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับ “หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี่”น่าจะปรับตัวได้ต่อเนื่อง เพราะบริษัทต่างๆ หันมาลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งเอื้อประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทานของ AI ไม่ว่าบริษัทผลิตชิป บริษัทซอฟท์แวร์เกี่ยวกับ AI หรือบริษัทเกี่ยวกับรักษาความปลอดภัย/คลาวด์/ดาต้า ธีมนี้ยังเติบโตได้ต่อ
ส่วน“หุ้นกลุ่มการเงิน” มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นได้ อานิสงก์จากนโยบายทรัมป์ที่ต้องการลดขั้นตอนในการทำธุรกิจ ปีหน้ามีโอกาสจะเห็นการใช้บริการด้านวาณิชย์ธนกิจหรือ IB จากการควบรวมกิจการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดหุ้นยังไปต่อ แต่ระหว่างทางยังมีความผันผวนจากสงครามการค้า แนะนำนักลงทุนควรจะถือเงินสดอย่างน้อย 5-10%เพื่อช้อนซื้อหุ้นในช่วงย่อตัว
สอดคล้องกับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า โอกาสในการลงทุนยังพอมีทางเลือกในแต่ละประเภทสินทรัพย์ โดยเป้าหมายผลตอบแทนจาก“หุ้นทั่วโลก”โดยรวมใกล้เคียงกันที่ระดับ 10% ในครึ่งปีแรก
ฝั่งสหรัฐยังเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงผู้นำส่งผลต่อนโยบายเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะมีการใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และมีการออกพันธบัตรรัฐบาลมาก แม้จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ไม่มีผลบวกต่อตลาดพันธบัตร แต่ผลตอบแทนจากพันธบัตรค่อนข้างดี
“ฝั่งยุโรป”มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าสหรัฐ ส่วนประเทศอื่นๆน่าจะเห็นเทรนด์การลงทุนเข้ามาในครึ่งปีหลังทั้งตลาดจีน อินเดีย ภูมิภาคเอเซียและไทย
ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรืออุตสาหกรรมต่างๆมีโอกาสจะรีบาวด์ แต่ภาพที่จะบวกกับเอเซียจะเป็น ทองคำ ทองแดง และเงินที่ราคายังปรับขึ้นได้อีก โดยเฉพาะ”ทองคำ”นั้นยังเห็นกำลังซื้อเริ่มกลับเข้ามาจากธนาคารกลางโดยไม่กังวลกับราคาที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นราคาทองคำปรับตัวลงแรงน่าจะน้อย
“ถามว่า แนวโน้มราคาทองคำจะปรับขึ้นมากๆนั้น ส่วนตัวมองว่า น่าจะคล้ายปี 2567 และขึ้นอยู่กับภาพเศรษฐกิจ ซึ่ง Goldman Sachs คาดการณ์ราคาทองคำเฉลี่ยอยู่ที่ 2,395 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และ 2,973ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ”
สำหรับ “คริปโทเคอเรนซี” ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ลำบาก สาเหตุจากราคาที่บวกขึ้นมาค่อนข้างมาก และหากผลบวกทำให้ราคาคริปโตปรับขึ้นมาเร็วและมากนั้น มาจากการเก็งกำไรและการกู้ยืมมาลงทุน ปีหน้าคริปโตมีความเสี่ยงที่จะปรับฐาน
นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด สตาร์ตอัปสัญชาติไทยในฐานะฟินเทคที่วิเคราะห์ข้อมูลตลาดหุ้น 29 ประเทศทั่วโลกขึ้น ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดแผนการลงทุนด้วย Alpha AI
ภายใต้ Jitta Ranking Alpha หรือการวิเคราะห์หาประเทศที่มี “หุ้นดีราคาถูกมากที่สุด” ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,057 วันที่ 29 ธันวาคม - 1 มกราคม พ.ศ. 2568