นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศ กับบทบาทของประกันภัย ภายใต้ New Challenges” ว่า การดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา มีผลช่วยให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ กลับมาเริ่มฟื้นตัวหลังจากโดนโควิดกระทบ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็เจอภาวะเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากราคาน้ำมัน อาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการปรับตัว
โดยเฉพาะในด้านพลังงานจะต้องมีการปรับตัวเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งการที่จะประกอบธุรกิจในปัจจุบันนี้องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับ ESG ต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้ ก็เป็นปีที่ธุรกิจประกันต้องเผชิญความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสที่ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใน 5 ด้าน ได้แก่
- ความเสี่ยงของการเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น การเกิดโควิด ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนตื่นตัวและหันมาซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจประกันจะต้องมีการปรับตัว รองรับความต้องการของประชาชน และความเสี่ยงนี้ให้ได้
- ความเสี่ยงจากโครงสร้างประชากร เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว จะต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสถาบันความงามเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความงาม และการชะลอความแก่ก็เป็นความต้องมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องการออมเพื่อรองรับการเกษียณ
- ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจะกระทบต่อการหารายได้ และการออมของประชาชน อย่างไรก็ดี ในปี2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 ธุรกิจประกันภัยยังเติบโตได้
- เทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงในการพัฒนาระบบประกัน และความก้าวหน้าในการป้องกันมิจฉาชีพ เป็นต้น โดยธุรกิจประกันต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบเทเลเมตริก มาประมวลข้อมูล เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงในการออกผลิตภัณฑ์และบริหารธุรกิจต่างๆ
- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ผ่านมาได้มีการนำร่องประกันพืชผลข้าวไปแล้ว แต่ยังอยากให้มีการขยายไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ เพิ่มเติมอีก