ชวนจัดทัพ ปรับพอร์ต รับศึกลงทุนปี 2023

11 ม.ค. 2566 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 16:11 น.

จัดทัพ ปรับพอร์ต รับศึกลงทุนปี 2023: คอลัมน์ มันนี่ ดี ไอวาย โดยคุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ปี 2022 จัดว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับนักลงทุนทั่วโลก จากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากระทบรุนแรง ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ภาวะเงินเฟ้อสูง, สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์หลากหลายประเภทปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก

 

เมื่อมองไปข้างหน้า ‘ภาพการลงทุนในปี 2023’ อาจยังมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่รออยู่ แต่หากปัจจัยลบผ่านพ้นไปและแรงกดดันเริ่มบรรเทาเบาบางลง เราเชื่อว่า ทิศทางการลงทุนโดยรวมจะมีแนวโน้มเป็นบวกและโอกาสของโลกการลงทุนน่าจะเปิดกว้างมากขึ้น

แม้ว่าในปี 2023 ภาพการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะถูกเหนี่ยวรั้งด้วยความกังวลต่อความเสี่ยงของภาวะถดถอย(Recession) ของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก คือ สหรัฐฯ และยุโรป ด้วยแรงกดดันจากวิกฤติพลังงานในยุโรป, ภาวะเงินเฟ้อสูงกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค, กิจกรรมการผลิตที่ชะลอตัวลงสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)

 

และการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วและแรงที่สุดในรอบ 40 ปีของ Fed ผ่านการขึ้นดอกเบี้ยและการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (Quantitative Tightening หรือ QT) ผลักดันให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้น การชะลอตัว/ถดถอยทางเศรษฐกิจมหภาค ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องมาสู่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดมีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรลงเช่นกัน

 

แต่ในเชิงสถิติ ช่วงเกิด Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอดีต พบว่า ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ มักถูกปรับลงมาเฉลี่ยราว 10-15% และในรอบปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2022 นี่จึงเป็นปัจจัยที่เราประเมินว่า ยังมีโอกาสสร้างความเสี่ยงขาลง (Downside risk) ให้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวไม่น่าจะยั่งยืนและต่อเนื่อง

 

ดังนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 การวางกลยุทธ์การลงทุนจึงยังคงต้องเน้นความระมัดระวัง ในอีกมุมมองหนึ่งของการลงทุน เรามองว่า ตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนคุณภาพสูง (Investment Grade) เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Bond Yield ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูง

 

ยกตัวอย่างในช่วงกลางเดือน ธ.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ราว 3.5% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ในขณะที่ Fed เริ่มชะลออัตราเร่งของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้แรงกดดันต่อตราสารหนี้ มีแนวโน้มลดลงในระยะถัดไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ขับเคลื่อนกระแสเงินทุนให้ไหลเข้าตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม

 

สำหรับด้านการลงทุนหุ้น กลุ่ม Defensive อย่างเช่น กลุ่มการแพทย์-สุขภาพ (Health Care) และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค จะเป็นกลุ่มที่นักลงทุนให้ความสนใจ เนื่องจากมีความทนทานต่อความไม่แน่นอนจากปัจจัยเชิงมหภาค ผลประกอบการไม่ได้ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก ส่วนสินทรัพย์ทางเลือก ทองคำ สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เช่นกัน  

 

หากมองยาวข้ามไปถึงครึ่งหลังของปี 2023 เราประเมินว่า บรรยากาศการลงทุนน่าจะมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น เมื่อความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนได้สะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นค่อนข้างมากแล้ว แรงกดดันจากการใช้นโยบายตึงตัวทางการเงินของ Fed น่าจะเริ่มคลายตัว แม้ Fed น่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024 แต่น่าจะเห็นการชะลอหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Fed pause)

 

ส่วนฝั่งเอเชีย คาดว่า การคลายนโยบาย Zero COVID ของจีน จะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากภาครัฐเริ่มทยอยปรับเกณฑ์ควบคุมตั้งแต่ปลายปี 2022 การกลับมาเปิดเมืองของจีนจะช่วยหนุนการบริโภคและการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึง ช่วยบรรเทาปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักหรือ Supply Chain Disruption

 

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2023 เรามีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนหุ้นมากขึ้น เช่น

  • ตลาดหุ้นจีน มีปัจจัยสนับสนุนจากพัฒนาการเชิงบวกของการคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 บวกกับ Valuation ไม่แพง เพราะดัชนีตลาดหุ้นจีน ปรับฐานลงมาแรงมากในปี 2022
  • หุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ (Russell 2000) ตามสถิติ มักจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าหุ้นขนาดใหญ่ หลังผ่านพ้นช่วง Recession และระดับ Valuation ของ Russell 2000 เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ คือ S&P 500 ถือว่า อยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปี
  • กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คาดว่า จะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของรอบวัฏจักรอุตสาหกรรม ขณะที่การเติบโตของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในระยะยาว จะถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการใช้จากกลุ่มยานยนต์, กลุ่มสื่อสาร และ Data Storage เป็นหลัก