บลจ.วรรณ ชูธีม Complex Return รับมือตลาดผันผวน

10 พ.ค. 2566 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 11:17 น.

บลจ.วรรณชี้ ตลาดยังผันผวนเป็นระยะ จากปัจจัยกดดันรอบด้าน แนะเสริมกลยุทธ์เพิ่มทางเลือกลงทุนในธีม Complex Return ช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด(บลจ.วรรณ)เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมมือกับผู้สนับสนุนการขายเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนในธีม การลงทุนที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลง (downside risk) หรือ Complex Return ซึ่งเป็นการลงทุนทางเลือกที่เหมาะ สำหรับสภาพตลาดในช่วงนี้ จึงเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ONE-COMPLEXRETURN)  ระหว่างวันที่ 11-19 พ.ค.นี้

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บลจ.วรรณ

สำหรับการลงทุนแบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก ลงทุนในตราสารหนี้และ/หรือเงินฝาก ทั้งในประเทศและ/หรือต่างประเทศโดยมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 96.50% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน นักลงทุนจะได้รับเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ยเป็น 100.50% ณ วันครบอายุโครงการประมาณ 3 ปี 1 เดือน

ส่วนที่สอง สัดส่วนลงทุนประมาณ 3.50% กองทุนจะลงทุนในคอลวอร์แรนท์ (Call Warrant) หรือคอลออปชั่น (Call Option) ที่อิงผลตอบแทนของดัชนี J.P. Morgan Mozaic XRP ซึ่งดัชนีดังกล่าว จะกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก (Multi-asset investment) ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และค่าเงินสกุลหลัก โดยใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในสัดส่วนเท่ากัน และดัชนีย่อยดังกล่าวเป็นตัวแทนของหลักทรัพย์หลายประเภทที่มีความสัมพันธ์ (Correlation) ต่อกันในระดับต่ำ เป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนโดยรวม

ขณะเดียวกัน สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ จุดเด่นของกองทุนดังกล่าว คือ ลงทุนในตราสารหนี้ และผู้ลงทุนยังมีโอกาสรับผลตอบแทนตามการเคลื่อนไหวอ้างอิงดัชนี J.P. Morgan Mozaic XRP Index ในอีก 3 ปี 1 เดือน ข้างหน้า (ตามอายุโครงการ) 

ทั้งนี้ภาพการลงทุนโดยรวมเดือนนี้ยังมีความผันผวนเป็นระยะๆ จากที่ตลาดยังคงรอการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/2023 ที่จะทยอยประกาศต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯที่คาดว่า จะแตะเพดานหนี้ภายในกลางเดือนมิ.ย.

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่จะกดดันตลาดในระยะสั้น ยังเป็นประเด็น ด้านความกังวลการเติบโตเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่ต่างๆ โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนยังคงห่างจากกรอบเป้าหมาย ทำให้ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ยังคงดำเนินนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างยูโรโซนและสหรัฐฯ อยู่ที่ 2% สะท้อนได้ว่า ECB มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ประกอบกับยังมีความกังวลเรื่องธุรกิจภาคธนาคารของยูโรโซน ซึ่งมองว่า อาจกระทบทิศทางตลาดในระยะถัดจากนี้ ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทิศทางตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเป็นระยะต่อเนื่องด้วยเช่นกัน