นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ (บลจ.วรรณ)เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของภาคธนาคารของทั้งสหรัฐฯและยุโรป โดยล่าสุด กรณีหุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ถูกประเมินมูลค่าเป็นศูนย์(Write Down) จากการควบรวมกิจการธนาคารยูบีเอส ธนาคารใหญ่สุดของสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ดี กรณี AT1 เป็นเหตุการณ์เฉพาะจากการควบรวมกิจการของยูบีเอส ซึ่งบลจ.วรรณ ไม่ได้รับผล กระทบจากกรณีหุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ที่ถูกประเมินมูลค่าเป็นศูนย์(Write Down) จากการควบรวมกิจการธนาคารยูบีเอส ธนาคารใหญ่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากไม่ได้มีการลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปัจจุบัน กองทุนตราสารหนี้ของ บลจ.วรรณ เน้นลงทุนตราสารหนี้คุณภาพดีในประเทศเป็นหลัก (Investment Grade) มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ (Duration) ที่ค่อนข้างสั้น จึงได้รับผลกระทบจาก Sentiment เชิงลบในตลาดค่อนข้างจำกัด
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งจากภาคธนาคารสหรัฐฯ และ ยุโรป อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Sentiment การลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินในระยะสั้น และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth ที่มีความผันผวนสูง และบริษัทยังไม่ได้มีผลกำไรที่ยังต้องพึ่งการสนับสนุนจากทางการอยู่
"กลุ่มเหล่านี้อาจจะยังถูกกดดันจากความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีแนวโน้มในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป"นายพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงเชื่อมั่นว่า ผลกระทบจากกรณีหุ้นกลุ่มธนาคารที่เกิดขึ้นทั้งจากสหรัฐฯและยุโรปจะค่อนข้างจำกัดและไม่ลุกลามเป็นวิกฤติทางการเงินรอบใหม่ อีกทั้งมองว่า การที่ธนาคารกลางและหน่วยงานรัฐยื่นมือเข้าช่วยเพิ่มสภาพคล่องจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความตื่นตระหนกในวงกว้างและจำกัดความเสี่ยงเชิงระบบได้
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯและยุโรป เราได้หารือเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกันกับผู้จัดการกองทุน BlackRock World Financial Fund กองทุนหลักของกองทุน ONE-GLOBFIN ซึ่งลงทุนหุ้นการเงินทั่วโลก โดยเรามีความเห็นร่วมกันว่า ประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อภาคการเงินโลกค่อนข้างจำกัดและไม่ลุกลามเป็นวิกฤติทางการเงินรอบใหม่”
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในภาคการเงินอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นจากสภาพคล่องในระบบที่ตึงตัว การใช้นโยบายการเงินที่แข็งกร้าวเกินไปอาจทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าคาด ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางและ Valuation ที่ค่อนข้างถูก
โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารยุโรป ซึ่งถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น มีอัตราการจ่ายปันผลที่ดีราว 8% และมีแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนต่อเนื่อง โดยทางทีมงานยังคงความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Fintech ที่มีสถานะการเงินที่ดี (Balance sheet efficiency) และมีโอกาสเติบโตเด่นในระยะข้างหน้าจากสังคมไร้เงินสด
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายพจน์กล่าวเสริมว่า จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีกำหนดประกาศวันเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 14 พ.ค. นี้ บริษัทมองว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นแรงหนุนให้กับหุ้นไทยในระยะสั้น โดยจากสถิติในอดีต หุ้นไทยมักตอบสนองเชิงบวกต่อการเลือกตั้ง โดยในช่วง 3 เดือน 2 เดือน และ 1 เดือน ก่อนเลือกตั้งหุ้นไทยมักปรับตัวขึ้น เฉลี่ย 5.6% 2.5% และ 2.3% ตามลำดับ ที่ระดับความเชื่อมั่น 70%
“หุ้นไทยอาจมี Upside ค่อนข้างจำกัด จากกระแสเงินทุนไหลออกตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2565ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาอ่อนแอ และทำให้มีการปรับประมาณการผลกำไรบริษัทจดทะเบียนลง นอกจากนี้ ธปท. มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. อาจกดดันหุ้นไทยได้เช่นกัน”นายพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงแนะนำ “ซื้อสะสม” เมื่อตลาดแกว่งตัวลง ควบคู่กับการกระจายการลงทุนไปในกองทุนต่างประเทศ โดยมองว่า หุ้นที่คาดว่างบการเงินจะออกมาดี หุ้นที่มีปันผล หรือมีปัจจัยบวกเฉพาะจะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนหลักในระยะนี้
สำหรับกองทุนภายใต้การบริหารของบลจ.วรรณที่แนะนำ ได้แก่