Telemedicine กับผลประโยชน์ภายนอกต่อสังคม

15 เม.ย. 2566 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 07:09 น.

Telemedicine กับผลประโยชน์ภายนอกต่อสังคม (External Benefit): คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย ธันยาพร เล้าโสภาภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

Telemedicine หรือ นวัตกรรมบริการทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น จากความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) หรือกลุ่มติดตามอาการ (Follow-Ups) ที่ใช้ช่องทางบริการผ่าน Telemedicine ให้บริการได้ใกล้เคียงกับการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล และสามารถลดค่าใช้จ่ายในรูปแบบต้นทุนแฝงต่าง ๆ เช่น ค่าขาดงาน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมถึงต้นทุนทางเวลาอื่น ๆ ในช่วงรอการตรวจรับการรักษา

โดยรูปแบบการพัฒนายกระดับระบบการรับบริการทางการแพทย์ผ่านช่องทาง Telemedicine ซึ่ง ttb analytics แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ 

Telemedicine กับผลประโยชน์ภายนอกต่อสังคม

  1. ระยะเริ่มต้น (Early Stage) คือการให้บริการโดยมีข้อจำกัดทั้งในมิติของกลุ่มผู้รับบริการ และรูปแบบบริการ
  2. ระยะขยายขอบเขตบริการแบบจำกัดกลุ่มผู้รับบริการ (Vertical Timeline Expansion Stage) คือการให้บริการผ่าน Telemedicine ผ่านการให้บริการในรูปแบบ Treatment อื่นโดยไม่ต้องรับหัตถการจากบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตหรือการลดความเครียด
  3. ระยะขยายการเติบโต (Growth Stage) คือระยะที่ขยายขอบเขตการให้บริการการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติทางการแพทย์ (Laboratory Test) ถึงสถานที่พักอาศัย ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มผู้ป่วยติดตามอาการสามารถใช้บริการผ่านช่องทาง Telemedicine ได้เต็มประสิทธิภาพ
  4. ระยะการเติบโตในอัตราเร่ง (Expansion Stage) คือระยะที่ระบบบริการ Telemedicine สามารถครอบคลุมสิทธิรักษาพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยนอกได้เกือบทุกสิทธิ์

ปัจจุบัน ระบบ Telemedicine ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น (Early Stage) ที่กลุ่มผู้รับบริการยังค่อนข้างจำกัดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาพยาบาลผ่านระบบประกันกลุ่มจากความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์โดยผ่าน Telemedicine และไม่ต้องสำรองจ่าย

ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการเข้ารับบริการทางการแพทย์ผ่านสิทธิประกันกลุ่มราว 15-20% คิดเป็น 7-8 ครั้งต่อปี จากเดิมที่มีการเข้ารับบริการ 5-6 ครั้งต่อปี และคาดว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนไทยเพิ่มขึ้นอีกราว 4,000-6,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากการได้รับผลประโชน์ทางตรงที่สร้างรายได้เพิ่มให้กับอุตสาหกรรมโรงพยาบาลแล้ว ระบบการให้บริการทางการแพทย์แบบ Telemedicine ยังเป็นบริการที่สร้างผลกระทบภายนอกทางบวก (External Benefit) จากการสร้างผลประโยชน์เพิ่มเติมให้กับสังคมโดยรวม เช่น การลดต้นทุนทางอ้อมของผู้รับบริการทางการแพทย์ที่ไม่ต้องเดินทางไปสถานพยาบาล

รวมถึงประสิทธิภาพของโรงพยาบาลในการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้นจากการลดความหนาแน่นของผู้ป่วยบางส่วนที่สามารถใช้บริการผ่าน Telemedicine ที่ทดแทนได้ ซึ่งตามหลักแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้สรุปว่า ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลประโยชน์ภายนอกให้กับสังคมควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้มีการประกอบกิจกรรมนั้นเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมให้มากที่สุด

ดังนั้น การที่ Telemedicine เป็นกิจกรรมที่ส่งผลประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับสังคมโดยรวม จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดสังเกตได้จาก การขยายบริการ Telemedicine ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า(บัตรทอง) หรือ กลุ่มผู้ป่วยประกันสังคม ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) 42 กลุ่มโรค/อาการ

นำร่องให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดแรกเพื่อเร่งรัดพัฒนาให้ระบบ Telemedicine เข้าสู่ระยะการเติบโตในอัตราเร่งโดยเร็ว ซึ่งเมื่อเกิดความสัมฤทธิ์ผลผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม (Total Social Benefit) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นดังนี้

  1. ผลประโยชน์ในรูปแบบการลดต้นทุนทางอ้อมของผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาล เนื่องจากการเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาล นอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว ผู้เข้ารับบริการยังมีต้นทุนทางอ้อมอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และ การขาดรายได้จากการลางาน ซึ่งประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 1,500-2,000 บาท/คน/ครั้ง ซึ่งเมื่อระบบ Telemedicine สามารถยกระดับเข้าสู่ระยะที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยนอกได้ทุกสิทธิ์การรับบริการที่มีจำนวนราว 58.83 ล้านคน/ครั้ง/ปี การเปลี่ยนผ่านจากการรับบริการ ณ สถานพยาบาล ให้เข้าสู่ระบบ Telemedicine ทุก ๆ 10% ของจำนวนผู้ป่วยนอกจะช่วยลดรายจ่ายทางอ้อมให้กับสังคมโดยรวมราว 8,800 – 11,700 ล้านบาท
  2.  ผลประโยชน์เพิ่มเติมต่อระบบการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาล เนื่องจาก Telemedicine จะมีส่วนช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้อย่างมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่มีผู้ป่วยหนาแน่นหรือในโรงพยาบาลที่ห่างไกลมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยระบบ Telemedicine สามารถรองรับกลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อย (Minor Illnesses) หรือกลุ่มติดตามอาการ (Follow-Ups) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้โรงพยาบาลมีการจัดสรรทรัพยากรในการดูแลรักษาสุขภาพของผู้เข้ารับบริการในกลุ่มผู้ป่วยใน (IPD) ผู้ป่วยฉุกเฉิน (Emergency) หรือ ผู้ป่วยอาการหนัก-วิกฤต (Severe-Critical) ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยสรุป ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ระบบ Telemedicine สามารถช่วยสร้างผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์ในปี 2566 โดยนับเป็นตัวเงินคิดเป็นมูลค่าราว 4,000-6,000 ล้านบาท บนศักยภาพที่ยังสามารถดำเนินการกิจกรรมทางการแพทย์ไปได้อีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระบบ Telemedicine สามารถขยายศักยภาพเข้าสู่ระยะการเติบโตในอัตราเร่งโดยเร็ว จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้สังคมในภาพรวม โดยลดรายจ่ายทางอ้อมของผู้ที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ได้นับหมื่นล้านบาทต่อปี รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรของแต่ละโรงพยาบาลในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วต่อไป