ลงทุนอย่างไรดี หากวัฏจักรดอกเบี้ยสูงยังไม่จบ

25 ก.ค. 2566 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 10:41 น.

ลงทุนอย่างไรดี หากวัฏจักรดอกเบี้ยสูงยังไม่จบ: คอลัมน์มันนี่ ดี ไอวาย โดย นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

หนึ่งใน ‘ข่าวใหญ่’ ในช่วงที่ผ่านมาคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้ออกมาชี้ว่า วัฏจักรดอกเบี้ยสูง อาจจะยังไม่จบ’ แม้ว่าจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้คงดอกเบี้ยไว้ แต่ประมาณการดอกเบี้ยในอนาคต หรือ ที่ตลาดรู้จักในนาม Dot Plot กลับแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการฯ ยังมองว่ามีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยในอนาคตเพิ่มขึ้นได้อีก 2 ครั้ง

ในขณะที่ก่อนหน้านั้น ตลาดทุนส่วนใหญ่ต่างมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุดแล้ว หรือ อาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกเพียงหนึ่งครั้ง ทำให้ตลาดเริ่มกลับมาปรับตัวรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นใหม่อีกรอบหนึ่ง และอาจจะรวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่เกิดแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ดูเหมือนจะส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะยังไม่จบเช่นกัน แม้ว่า กนง. จะปรับดอกเบี้ยขึ้นมาแล้วถึง 6 ครั้งติดต่อกัน จนดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาแตะอยู่ที่ 2.00% ซึ่งก็มีเหตุผลที่อธิบายได้ ดังนี้

  • ประการแรก ‘แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงมีอยู่’ แม้ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม จะชะลอลงมาอยู่ที่ 0.5% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.6% โดย กนง. ชี้ว่าเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าของภาครัฐ ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของเงินเฟ้อหลายตัวยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่อง ตามต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวขึ้นมามาก แต่ในภาคธุรกิจบางส่วน อย่างเช่น กลุ่มธุรกิจอาหารยังคงแบกรับภาระต้นทุนเอาไว้เอง ซึ่งจากการสำรวจของ ธปท. พบว่า ภาคธุรกิจพร้อมที่จะปรับราคาเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่านี้

ลงทุนอย่างไรดี หากวัฏจักรดอกเบี้ยสูงยังไม่จบ

  • ประการที่สอง ‘แรงกดดันเงินเฟ้อจะยิ่งเร่งสูงขึ้นในอนาคต’ หากรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการลดค่าครองชีพ และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมาตรการลดค่าครองชีพแม้จะกดดันให้เงินเฟ้อ โดยเฉพาะหมวดพลังงานลดลง แต่ครัวเรือนอาจจะมีรายได้พึงจับจ่ายใช้สอย (Disposable income) เพิ่มขึ้น และหากมาพร้อมกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงขึ้น ผลักดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะในหมวดอาหารสำเร็จรูปให้เร่งขึ้นมากไปอีก
  • ประการสุดท้าย เชื่อว่า กนง. อยาก ‘ผลักดันให้ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นบวก’ โดย กนง. ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรจะเป็นบวก มิฉะนั้น ระบบเศรษฐกิจอาจจะสะสมความเสี่ยงเข้าไปโดยไม่รู้ตัว อาทิเช่น การมองความเสี่ยงต่ำเกินจริง การมุ่งหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และทำให้ประเมินความเสี่ยงผิดพลาด ซึ่งจากการศึกษาของ ธปท. พบว่า หากเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวเฉลี่ยที่ราวๆ เกือบ 3% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรจะเป็นบวกประมาณ 0.5% ซึ่งเชื่อว่า การคำนวนดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของ กนง. ให้น้ำหนักของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต หรืออัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง มากกว่า อัตราเงินเฟ้อในอดีต กนง. คาดเงินเฟ้อปีนี้ที่ 2.5% และปีหน้าที่ 2.4% 

 

ดังนั้น เป็นไปได้ว่า กนง. อาจจะมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรจะขึ้นไปแตะระดับนั้นเป็นอย่างน้อยถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ กนง. จะยังส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ดีอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็ได้ถูกปรับขึ้นมาพอสมควร และคาดว่าใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะทรงตัวสูงไปอีกซักระยะเนื่องจากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงจากภาคการบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งคงเลี่ยงไม่ได้ที่ภาวะเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน

กลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจช่วงนี้ อาจต้องเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยอยู่ใกล้จุดสูงสุดและมีความผันผวนไม่มากกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีกระแสเงินสดแข็งแกร่ง ,สาธารณูปโภค และประกันชีวิต เป็นต้น  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาตลาดหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี และสาธารณูปโภค มักจะตอบรับในเชิงบวกหลังแรงกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยผ่านพ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกระแสเงินสดสูง ซึ่งมูลค่าหุ้นจึงมักจะได้ประโยชน์เมื่ออัตราดอกเบี้ยหยุดปรับตัวขึ้น

ขณะที่ผลประกอบการมีผันผวนต่ำในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ประกันชีวิตได้ประโยชน์จากรายได้อัตราดอกเบี้ยของสินทรัพย์ที่นำเงินไปลงทุนสูงขึ้น ทางเลือกอื่นๆที่น่าสนใจ อาจรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งจะมีความน่าสนใจกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะจะสามารถรับรู้ประโยชน์จากดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงได้นานยิ่งขึ้น โดยเน้นคัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่น่าเชื่อถือ มีผลประกอบการกำไรดี มีความสามารถในการแข่งขันสูง ที่จะสามารถแบกรับดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นตามสภาวการณ์ที่ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยงในภาวะดอกเบี้ยมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง คือ อุตสาหกรรมที่กำไรเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์, Leasing และตราสารหนี้คุณภาพต่ำ เป็นต้น เนื่องจากผลประกอบการมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินทรงตัวในระดับสูง และภาวะเศรษฐกิจชะลอส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์แย่ลง