ความแตกต่างระหว่างการเป็น Prop trader กับ Full time trader

06 ส.ค. 2566 | 04:26 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 04:37 น.

ความแตกต่างระหว่างการเป็น Prop trader กับ Full time trader : คอลัมน์ Investing Tactic โดยนายภุชงค์ ศรุติชาติ ผู้เขียน วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP นาย ณัชพล อนันต์ถาวร Prop trader ผู้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม

โลกของการลงทุน มีโอกาสมากมายสำหรับนักลงทุนหลากหลายรูปแบบ และท่ามกลางชุมชนของนักลงทุนนี่เอง เรามักจะได้ยินชื่อ “Prop Trader” กันบ่อยๆ แล้วนักลงทุนที่เป็น Prop Trader คืออะไร แตกต่างกับนักลงทุนอิสระ หรือ Full-time trader อย่างไร บทความนี้จะพาคุณมาส่องความแตกต่างระหว่าง 2 บทบาทให้เข้าใจกันมากขึ้น 

Full-time trader คือเทรดเดอร์ที่จัดการสินทรัพย์ของตัวเอง ด้วยตัวเอง ไม่ได้ขึ้นกับบริษัทใดๆ ส่วน Prop Trade หรือ Proprietary Trading คือนักเทรดที่อยู่ในสังกัดของบริษัทต้นสังกัดมีหน้าที่คือ ซื้อ-ขายสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายคือการเก็งกำไรเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทภายใต้ข้อกำหนดที่บริษัทได้สร้างเอาไว้

ความแตกต่างระหว่างการเป็น Prop trader กับ Full time trader

ข้อแตกต่างระหว่างการเป็น Full-time trader และ Prop Trader

  • Method

Full-time trader ไม่มีข้อจำกัดในด้านการเทรดเลย พวกเขาสามารถเทรดได้ในทุกสินทรัพย์ และสามารถเทรดได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Scalping, Day trade, Swing trade, Run trend หรือ VI (Value Investing) และสามารถปรับให้ยืดหยุ่นได้ ถ้ามีความได้เปรียบด้านต้นทุน ก็สามารถถือให้นานขึ้นเพื่อที่จะสร้างผลกำไรให้มากขึ้นได้

Prop trader ต้องเทรดภายใต้ข้อจำกัดของบริษัทต้นสังกัด โดยสินทรัพย์ที่เทรดส่วนใหญ่ต้องมีสภาพคล่องสูง รวมไปถึงมีการปิดความเสี่ยงที่ต่ำ ทำให้การเทรดของ Prop trader ส่วนใหญ่เป็นการเทรดแบบ scalping เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น Sentiment ของตลาด รวมถึงเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสินทรัพย์นั้นๆ จึงสำคัญมาก.

  • Risk & Leverage

Full-time trader สามารถขอวงเงินเพิ่มได้โดยการเปิดบัญชี Margin ที่สามารถได้วงเงินเพิ่มเป็น 2 เท่าจากวงเงินค้ำประกัน และสามารถใช้ leverage เพิ่มมากขึ้นได้โดยการซื้อขายสินทรัพย์ เช่น Block trade TFEX ในส่วนค่าคอมมิชชั่น Full-time trader จะต้องเลือกหาโบรคที่มีค่าคอมมิชชั่นที่ไม่แพงเอง  เพื่อลดต้นทุนในการเทรดให้ลดลง

Prop Trader สามารถขอวงเงินเพิ่มได้ 50-100 เท่า จากวงเงินค้ำประกัน ดังนั้น Prop trader จึงสามารถใช้ leverage ได้ในระดับสูง ทำให้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและทำให้อำนาจในการซื้อขายสินทรัพย์นั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ในส่วนค่าคอมมิชชั่นทาง Prop Trader ไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่น เสียแค่ค่า fee เท่านั้น ส่วนความเสี่ยงถูกกำหนดตามข้อตกลงของบริษัท ส่วนใหญ่ทางบริษัทจะกำหนดให้ Prop trade สามารถขาดทุนได้ไม่เกิน 1% ของพอร์ต

  • Mindset

Full-time Trader ไม่มีข้อจำกัดในการเทรด จึงสามารถเลือกเทรดในสภาวะตลาดที่เหมาะสมได้ ถ้าตลาดไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ เราสามารถเลือกที่จะไม่เทรด หรือว่ารอให้ตลาดกลับเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสมกับกลยุทธ์การเทรดของเราได้ แต่เนื่องจาก Full-time trader มีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง จึงต้องอาศัยวินัยระดับสูงหรือต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อให้เอื้อต่อการทำตามวินัย

Prop Trader มีสภาพแวดล้อมในการเทรดที่ทำให้ Prop trader ต้องเป็นคนที่มีวินัย เพราะมีความเสี่ยงที่ต้องควบคุม และการที่ต้องพยายามทำกำไร ทัศนคติในการเทรดของ Prop trader จึงเป็นการที่ต้องอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในสภาวะไหน Prop trader ก็ต้องสามารถที่จะเข้าเทรดเพื่อจะทำกำไรได้ เพราะฉะนั้นการปรับตัวตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเป็น Prop trader

ผู้เขียนมีโอกาสทำงานเป็น Prop Trader โดยช่วงระยะเวลาที่เป็น Prop trader ผู้เขียนได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่า และยังใช้ความรู้ตอนที่เป็น Prop trader มาต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสที่ดีขึ้นสำหรับการเทรดเมื่อเป็น Full-time trader ด้วย หากใครสนใจในการเทรด หรือการเก็งกำไร อาชีพ Prop trader ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการสร้างประสบการณ์ในการเทรด ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์ในตลาด

โดยสรุปแล้ว ทั้ง Prop trader และ Full-time trader ต่างก็มีบทบาทที่สำคัญในโลกการลงทุน ด้วยแนวคิด รวมถึงความท้าทายที่แตกต่างกัน การเป็น Full-time trader ได้สนุกกับอิสระ มีความยืดหยุ่นในการเทรด แต่ก็ต้องรับมือกับผลของการลงทุนด้วยตัวเองโดยตรง ในขณะที่ Prop trader ได้รับประโยชน์จากการมีรายได้ที่มั่นคง แต่ก็ปรับตัวภายใต้ข้อกำหนดของบริษัท

สำหรับนักเทรดที่ต้องการเดินทางในสายเทรดอย่างเต็มตัว ควรพิจารณาความแตกต่างเหล่านี้ และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญในการที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าคุณจะเทรดด้วยตัวเอง หรือสังกัดบริษัท คือ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ สร้างวินัยการเทรดที่ดี รู้จักจัดการความเสี่ยงได้ รวมถึงความอดทนต่อสิ่งต่างๆเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ